๓๖
หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร สู่ “หอสมุดแห่งชาติ” 

พ.ศ. 2440 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครกลับจากเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับนานาประเทศ โดยได้ทรงพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” ตามพระสมณะนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2448 ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบัน คือ ศาลาสหทัยสมาคม)

พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศจัดการหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร รัตนโกสินทร์ ความตอนหนึ่งว่า

“…หอพระสมุดวชิรญาณนั้นแม้การที่ได้จัดมาจนบัดนี้เปนแต่หอสมุดสำหรับผู้ซึ่งได้รับเลือกสรรเข้าเปนสมาชิกก็ดี ก็เห็นได้ว่าได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่วิชาความรู้ เปนอันมากอยู่แล้ว ถ้าและขยายการหอสมุดนี้ทำนุบำรุงให้เปนหอสมุดใหญ่สำหรับพระนคร ให้เป็นที่อาไศรยแก่บรรดาประชาชนที่จะแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ อันจะพึงได้ ในการอ่านหนังสือ หอพระสมุดวชิรญาณคงจะเปนถาวรประโยชน์อย่างสำคัญอันสมควรแก่พระราชประสงค์ที่จะทรงเฉลิมพระเกียรติยศ สนองพระเดช พระคุณในพระในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ในครั้งนี้ได้…”

ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12 น.619

หอพระสมุดวชิรญาณ ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาไว้ที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุ เรียกว่า “ตึกถาวรวัตถุ” พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459

26 กุมภาพันธ์ 2469 รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร

รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เปิดหอพระสมุดวชิราวุธ

หลังจากนั้น พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ออกเป็น 2 แห่ง โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2469

1. หอพระสมุดวชิราวุธ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิม เป็นที่เก็บและให้บริการหนังสือตัวพิมพ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รูปถ่าย และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

2. หอพระสมุดวชิรญาณ ย้ายไปให้บริการที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล ใช้เป็นที่เก็บศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย หนังสือตัวเขียน จดหมายเหตุของเก่า และตู้พระธรรม

ครั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2476 ยกฐานะหอพระสมุดสำหรับพระนคร เป็นกองหอสมุด สังกัดกรมศิลปากร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดแห่งชาติ” 

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร. กรม.

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน