๒๗
สายสัมพันธ์ไทย-จีนในสมัยรัชกาลที่ 7

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของระบบการศึกษา ทั้งโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนจีน โดยมีการจัดตั้งโรงเรียนจีนในสยามเป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2476 มีโรงเรียนจีนในสยามถึง 271 แห่ง เพื่อให้ลูกหลานจีนได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีจีน แต่โรงเรียนบางแห่งกลับปลูกฝังความนิยมในระบอบสาธารณรัฐและลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้รัฐบาลเกรงว่าอาจส่งผลระยะยาวที่เป็นภัยต่อประเทศชาติได้ จึงได้มีนโยบายเข้าตรวจตรากำกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนจีนให้รัดกุมภายใต้พระราชบัญญัติเดียวกันกับโรงเรียนราษฎร์อื่น ๆ

และด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาด้านการศึกษา ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของคนจีนในประเทศไทยไว้เป็นพิเศษ และจะต้อง “ไม่เป็นการต่อต้านคนจีนโดยตรง” เพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และให้ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้ชาวจีนในสยามมีความรักในผืนแผ่นดินไทยมากขึ้น เพื่อให้ตระหนักว่าตนเองก็เป็นพลเมืองไทยเช่นกัน

รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เยี่ยมชุมชนเยาวราชและโรงเรียนจีน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาวจีน โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีนถึง 4 แห่ง คือ โรงเรียนซินหมิน โรงเรียนจงหัว โรงเรียนเลียนฮะ และโรงเรียนน่ำเฮง รวมถึงได้เสด็จฯ เยี่ยมชุมชนชาวจีนเยาวราช เพื่อสมานความสัมพันธ์ไทย-จีน จากความบาดหมางของเจัาหน้าที่ของรัฐกับคนในชุมชนชาวจีน โดยทรงใช้ห้องประชุมของโรงเรียนจิ๊นเต๊ด ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนระดับชั้นประถมในย่านเยาวราช และได้พระราชทานพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมโรงเรียนจีน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 ความตอนหนึ่งว่า

“…อันที่จริงไทยกับจีนนั้น ต้องนับว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้…ข้าพเจ้ามิมีความประสงค์อะไรยิ่งไปกว่าที่จะขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เป็นไปโดยสนิทสนมเหมือนอย่างที่แล้วมานี้ ให้คงอยู่เช่นนี้ตลอดไป …ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีน ข้าพเจ้ายังหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย เพราะท่านทั้งหลายได้มาตั้งเคหสถานอาศัยอยู่ในประเทศสยาม ได้รับความคุ้มครองร่มเย็นเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยาม มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย ได้รับความสุขสบายมั่งคั่งสมบูรณ์ในประเทศสยาม เพราะฉะนั้นความมั่นคงของรัฐบาลสยามและประเทศสยาม ย่อมเปนสิ่งที่ท่านพึงประสงค์…”

พระราชดำรัสแสดงให้เห็นว่าทรงปฏิบัติต่อชาวจีนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด นับเป็นวิธีการอันนุ่มนวลที่ทรงช่วยเกื้อหนุนนโยบายสร้างความผสมกลมกลืนของรัฐบาล และพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า …อันที่จริงไทยกับจีนนั้น ต้องนับว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้…” กลายเป็นวาทกรรมทางการทูตเพื่อสานสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยและจีนในเวลาต่อมา

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน