พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 รวมระยะเวลา 18 วัน การเสด็จฯ เยือนมณฑลภูเก็ตในครั้งนี้ผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย พังลุง ภูเก็ต พังงา ตรัง และระนอง โดยขบวนรถไฟมีหัวรถจักรกับอีก 12 รถโบกี้ และเสด็จฯ ถึงสถานีพัทลุง เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2471 นับเป็นจังหวัดแรกที่พระองค์เสด็จฯ เพื่อทรงเยี่ยมราษฏร และทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเรือนและภูมิประเทศ ตลอดจนกิจการต่าง ๆ เป็นต้น
จังหวัดพัทลุง
“เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน”
(คำขวัญประจำจังหวัดพัทลุง)
จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลด้านตะวันของภาคใต้ ที่มีความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์และชีวภาพที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว เป็นแหล่งผลิตข้าวได้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของภาคใต้ และมี “ข้าวสังข์หยดพัทลุง” ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกในพื้นที่แปลงนา ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง นับเป็นข้าวพื้นเมืองภาคใต้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเพาะปลูกเมืองพัทลุง นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งบนบกและใต้น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกาะสวยงามที่วางตัวเรียงรายในทะเลอันดามัน และได้รับสมญานามว่า “ดินแดนแห่งป่าเกาะ” ที่มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2471
เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงสถานีพัทลุง โดยมหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูรสมุหเทศาภิบาลเฝ้าฯ อัญเชิญเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต
เวลา 10.00 น. ทรงรถยนตร์พระที่นั่งจากสถานีพัทลุงประพาสถ้ำคูหาสวรรค ทรงสักการะบูชาพระพุทธรูปในถ้ำและทอดพระเนตรถ้ำ ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อ “ปปร ๒๔๗๑” ที่ปากถ้ำใกล้ “จปร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ เมื่อ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2433) แล้ว เสด็จฯ ต่อไปยังจังหวัดตรัง
ถ้ำคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง
ถ้ำคูหาสวรรค์ เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำน้ำเงิน” หรือ “ถ้ำพระ” สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นเวิ้งรูปกรวยตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า “ช้างผุด” หรือ “หินลับแล” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นรวม 37 องค์ ปัจจุบันถ้ำแห่งนี้กลายเป็นศาสนาสถานที่สำคัญของจังหวัดพัทลุงที่ใช้ชื่อว่า “วัดคูหาสวรรค์” เป็นวัดพระอารามหลวงที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ ดังปรากฏพระปรมาภิไธยที่สลักไว้ที่เพิงหน้าถ้ำ
และในปี พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดพัทลุงครั้งแรก ที่บริเวณหน้าศาลากลางและเสด็จฯ ไปนมัสการพระพุทธรูปที่ถ้ำคูหาสวรรค์ วัดคูหาสวรรค์ ในวันดังกล่าวมีประชาชนมาเฝ้าชมพระบารมีประมาณ 35,000 คน และทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร. และสก. 17.3.2502 ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ
จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดพัทลุง ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เช่น ทรงทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองและทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฏร โดยหวังจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและนำความสุขมาสู่ราษฏรทุกหมู่เหล่า
เอกสารอ้างอิง
วัดคูหาสวรรค์ พระอารามหลวง. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง. https://plg.onab.go.th/
แลต๊ะแลใต้. (10 ธันวาคม 2565). มองเมืองลุงกับอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจและปากท้อง. THECITIZEN.PLUS. https://thecitizen.plus/node/66308
สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. สถาบัน.
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.