ในยุคปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคทั่วโลก บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระดาษ หรือโลหะ ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้จักจบสิ้น หรือการสร้างมลพิษในกระบวนการผลิตและการกำจัด
การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนจึงเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิล หรือ ย่อยสลายได้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สารบัญ
บรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์ หมายถึง ภาชนะหรือโครงสร้างใดๆ ที่ใช้เพื่อบรรจุ ห่อหุ้ม และรวบรวมผลิตภัณฑ์ให้เป็นหน่วย เพื่อนำส่งผลิตภัณฑ์ถึงผู้บริโภคในสภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงฉลากและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการมัด หรือปิดบรรจุภัณฑ์ด้วย บรรจุภัณฑ์มีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าและจำหน่าย เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ปกป้องสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัยแล้ว บรรจุภัณฑ์ยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นความสนใจจากผู้ซื้อหรือผู้บริโภคด้วย โดยวัสดุที่นิยมมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์นั้นสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภท ได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ แก้ว และวัสดุลามิเนต ซึ่งมีการจัดการอย่างยั่งยืนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการจัดการหลังการใช้งานและความสามารถในการนำกลับมารีไซเคิลของวัสดุนั้นๆ
หลักการจัดการบรรจุภัณฑ์
หลักการจัดการบรรจุภัณฑ์แบบง่ายๆ ที่เรียกว่า หลักการ 4Rs เป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่ใช้ในการลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและลดการเกิดมลพิษ โดยหลักการนี้ สามารถนำมาประยุกต์ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ โดยมีแนวทาง ได้แก่
- Reduce การลดการใช้
ถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของการออกแบบ เพราะจะเป็นการคำนึงถึงการลดสิ่งที่จะเกิดเป็นมลพิษหรือของเสียได้ โดยการออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดการลดการใช้ อาจพิจารณาถึงในเชิงปริมาณ คือ การลดขนาดหรือลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ แต่ยังคงคุณสมบัติที่จำเป็นของบรรจุภัณฑ์ หรือเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความหนาของผนังลดลง แต่ยังคงปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้ หรือการใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตบรรจุภัณฑ์แทนการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
- Reuse การใช้ซ้ำ
หมายถึง การใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นในการออกแบบจึงควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำบรรจุภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำได้มากที่สุด อาจใช้ซ้ำในภาระหน้าที่เดิมหรือเปลี่ยนบทบาทใหม่ แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ การใช้ซ้ำควรพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจนทำให้ไม่สามารถนำไปแปรรูปใช้ใหม่ได้ เช่น การใช้ถุงพลาสติกใส่ของที่ได้มาจากร้านสะดวกซื้อนำมาใส่ขยะ การนำขวดพลาสติกกลับมาใส่น้ำใช้อีกครั้ง หรือการนำกล่องคุกกี้ที่รับประทานหมดแล้วมาใส่ของจิปาถะ
- Repair การซ่อมแซม
เป็นขั้นตอนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา การซ่อมแซมยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานมากขึ้น บางผลิตภัณฑ์จึงมีการออกแบบให้สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อลดการสูญเสียและลดการเกิดของเสีย แต่ในแง่มุมของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้งานในระยะสั้น จึงไม่นิยมที่จะออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งาน
- Recycle การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่
เป็นขั้นตอนในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้แล้วผ่านกระบวนการทางกายภาพ ทางเคมี หรือทางชีวภาพ เพื่อให้สามารถนำมาแปรรูปใหม่ได้ โดยบางชนิดสามารถเปลี่ยนกลับมาให้คงคุณสมบัติเดิม หรือบางชนิดอาจเปลี่ยนไปมีคุณสมบัติอื่นแทนที่ ดังนั้นในการออกแบบควรคำนึงถึงวัสดุที่สามารถเปลี่ยนรูปกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่ได้ เพื่อลดการเกิดของเสีย เช่น การรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติก PET แล้วนำกลับมาแปรรูปเป็นเส้นใยในการผลิตเสื้อผ้า หรือการรีไซเคิลกระดาษให้กลับมาเป็นเส้นใย ในการผลิตกระดาษอีกครั้ง
แนวทางการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน
- การเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ให้พอเหมาะ
การเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ให้พอเหมาะ และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ โดยยังมีสมบัติพื้นฐานของการปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบน้อยลงหรือมีขนาดเล็กลงแต่ยังสามารถใช้บรรจุได้ในปริมาณเท่าเดิม การลดจำนวนชั้นของวัสดุลามิเนต หรือการใช้วัสดุประเภทเดียวแทนการใช้วัสดุลามิเนต ซึ่งการลดวัตถุดิบลงนั้นต้องยังคงความสามารถของบรรจุภัณฑ์ในการปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์ รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เท่าเดิม หรืออยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ตามมาตรฐาน เช่น ขวดน้ำดื่มที่ลดการใช้เนื้อพลาสติกลง โดยลดความหนาของตัวขวดให้บางลง และใช้ฝาขวดที่มีขนาดสั้นลงเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และตัวบรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด - การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เช่น กระดาษที่ผลิตจากเยื้อรีไซเคิล การใช้พลาสติกชีวภาพ การใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากผลิตภัณฑ์หลังการบริโภค และการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
รายการอ้างอิง
สินชัย เทียนศิริ. (2565). แนวคิดการเลือกใช้วัสดุเพื่อการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน. ใน เอกสารการสอน
ชุดวิชาวัสดุและการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1, หน่วยที่ 1, 1-1 – 1-31). สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรียบเรียงโดย
นางสาวอุไรวรรณ ใจหาญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ