เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2440 เป็นครั้งแรกที่มีการฉายภาพยนตร์ในไทย จากหลักฐานในหนังสือพิมพ์ “บางกอกไทมส์” รายงานว่า “การละเล่นซึ่งเรียกกันว่า ซีเนมาโตแครฟ คือรูปที่สามารถกระดิกแลทำท่าต่าง ๆ ได้…จะเล่น 3 คืนติด ๆ ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ” ซึ่งนายเอส. จี. มาร์คอฟสกี เป็นผู้นำภาพยนตร์มาฉาย มีผู้ชมกว่า 600 คน
ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องราวพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพภาพยนตร์อย่างเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของสยามที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น”
“จุดเริ่มต้นพระราชนิยมในภาพยนต์เกิดขึ้นเมื่อใด รู้หรือไม่ว่าพระองค์พระราชสมภพปีเดียวกับการกำเนิดภาพยนต์ขึ้นครั้งแรกโลก ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง และพระองค์ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทยให้รุ่งเรืองอย่างไร”
จุดเริ่มต้นพระราชนิยมในการถ่ายภาพและภาพยนตร์
พระราชนิยมในการถ่ายภาพและภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฎตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์พระราชสมภพในปีเดียวกับการกำเนิดภาพยนตร์ขึ้นในโลก เมื่อ พ.ศ. 2436 ที่โทมัส เอดิสันได้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์แบบถ้ำมองหรือคิเนโตสโคปจำหน่ายเป็นครั้งแรก และคาดว่าความสนพระราชหฤทัยส่วนหนึ่งสืบต่อมาจากพระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้โปรดปรานการถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงได้พระราชทานกล้องถ่ายภาพให้แก่รัชกาลที่ 7 จึงทำให้ได้ทรงฝึกการถ่ายภาพตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และขณะมีพระชนมายุ 12 พรรษา ทรงได้ส่งภาพฝีพระหัตถ์ ชื่อว่า “ตื่น” เข้าประกวดในงานออกร้านวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามฯ และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ประกอบกับในยุคนั้นพระราชสำนักเริ่มมีการฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทำให้น่าจะได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง
หลังจากจบการศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส ก่อนเสด็จนิวัติสยาม พ.ศ. 2467 ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด ทรงได้พบกับดาราฮอลลีวูดหลายท่าน อาทิ ชาร์ลี แชปลิน ดักลาส แฟร์แบงค์ และแมรี่ พิคฟอร์ด ทรงได้เสด็จเยี่ยม Thomas Edison ผู้ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ และเสด็จทอดพระเนตรโรงภาพยนตร์ของ Paramount Pictures หลักฐานเหล่านี้แสดงว่าทรงสนพระราชหฤทัยใฝ่เรียนรู้ในการถ่ายภาพและภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระราชนิยมในเรื่องนี้ยิ่งชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการโปรดเกล้าฯ ให้จัดฉายภาพยนตร์เพื่อทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักเป็นประจำทุกคืนวันพุธและเสาร์ หรือเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่าง ๆ จะทรงมีกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดเล็กติดพระหัตถ์ เพื่อทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ และมีหลักฐานในบัญชีฟิล์มภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 7 ระหว่างปี พ.ศ. 2468 – 2476 ตลอด 8 ปี พบว่ามีจำนวนฟิล์มกว่า 500 ม้วน คิดเป็นความยาว 120,000 ฟุต ซึ่งเป็นฟิล์มที่อยู่ในสภาพดี 178 ม้วน โดยหอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ (โดม, 2539)
ภาพยนตร์ทรงถ่ายหรือภาพยนตร์อัมพรในรัชกาลที่ 7
ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ระยะแรก โปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อ “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2471 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามนามของพระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับ ซึ่งสามารถแบ่งเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ 4 ประเภทดังนี้
1. ภาพยนตร์พระราชพิธีสำคัญ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย เป็นการบันทึกภาพและข้อมูลพระราชพิธีสำคัญ ๆ ของราชสำนักสยาม ซึ่งจะมีทั้งที่ถ่ายจากฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชโองการให้กองเผยแพร่ข่าว กรมรถไฟหลวงบันทึกเหตุการณ์
2. ภาพยนตร์สารคดี จะมีเนื้อหาของเหตุการณ์ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรม สังคม ชุมชนและชาติพันธุ์ทางประวัติศาสตร์ไทย เช่น เรื่องนาลิวันรำเขนง ทรงถ่ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีการแต่งกายผู้รำเหมือนพิธีโล้ชิงช้า ภาพยนตร์การรำมอญ ทรงถ่ายเมื่อเสด็จฯ ปากลัด (ข่าวศรีกรุง 11 ก.พ. 2473)
3. ภาพยนตร์บันเทิง เป็นภาพยนต์ดำเนินเรื่อง ตามที่มีร่องรอยหลักฐานมีอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ พระเจ้ากรุงจีน ชิงนาง ภาพยนตร์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่ไม่ทราบชื่อ และแหวนวิเศษ
4. ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ทั่วไป เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 7 ที่บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือเรียกแบบสามัญว่า ภาพยนตร์ในครอบครัว เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทรงพบ หรือเป็นภาพของผู้ใกล้ชิดพระองค์ อาทิ ถ่ายภาพเต่าเผือก เต่าห้าขา ซึ่งเป็นของแปลกในยุคสมัยนั้น
รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทย
นอกจากรัชกาลที่ 7 จะทรงมีพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์แล้ว ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุครุ่งเรืองของกิจการภาพยนตร์ ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ในประเทศหลายด้าน อาทิ โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น และก่อตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2473 โดยมีการจัดประชุมสมาชิกเดือนละครั้ง เพื่อนำภาพยนตร์ฝีมือของตนไปฉายให้ได้ติชมกันในลักษณะ “เพื่อนช่วยเพื่อน” พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์อัมพรของหลวง เรื่อง การเสด็จประพาสเกาะบาลีออกฉาย
และโปรดเกล้าฯ ให้ทำแหนบหรือเข็มชนิดหนึ่งด้วยทองคำแบบตราอาร์ม มีอักษรลงยาในวงตราว่า “ส.ภ.ส.” เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง มีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบนตัวอักษร ในกรอบสี่เหลี่ยมตัดกันคล้ายแผ่นฟิล์มภาพยนตร์
สำหรับภาพยนตร์ที่จะออกฉายแก่สาธารณชนในโรงนั้น พระองค์ทอดพระเนตรภาพยนตร์ก่อนการฉายในกรณีที่ผลิตในประเทศไทย และพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้สร้าง เช่น ภาพยนตร์โชคสองชั้น ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย ่และภาพยนตร์ไทยที่มีเสียงเรื่องแรกคือ หลงทาง
ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพหลวงพระราชทานในรัชกาลที่ 7
ความนิยมภาพยนตร์ในสยามยุคนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสร้างโรงภาพยนตร์มากมายหลายแห่ง แต่เป็นโรงขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้ หลังคามุงสังกะสี ไม่มีลักษณะสวยงาม หรือมั่นคงถาวรเหมือนในปัจจุบัน ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างโรงมหรสพแห่งชาติที่มีความทันสมัยเพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี โดยได้พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” มีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงเป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 ใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2476 ถือเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ สามารถรองรับผู้ชมได้มากกว่า 1,000 คน ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉาย คือ มหาภัยใต้ทะเล (Below the Sea 1933)
ความสำเร็จของศาลาเฉลิมกรุง ทำให้ย่านธุรกิจโดยรอบเติบโตและกลายเป็นย่านภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนฮอลลีวูดเมืองไทย และทรงเห็นว่าการดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์จำเป็นต้องมีผู้ดูแลบริหารงาน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งบริษัท สหศินีมา จำกัด เพื่อบริหารศาลาเฉลิมกรุง และโรงภาพยนตร์ในเครือ รวมทั้งนำเข้า จัดจำหน่าย และจัดฉายภาพยนตร์ทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพยนตร์ ทรงฝึกฝน และแสวงหาประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง อาจจะกล่าวได้ว่าในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการภาพยนตร์ไทย พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ในประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทรงสร้างสรรค์ภาพยนตร์ทรงถ่ายและภาพยนตร์อัมพรอันทรงคุณค่าที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ผ่านแผ่นฟิล์มหลายร้อยม้วนด้วยฝีพระหัถต์ จนได้รับขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ”
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
เอกสารอ้างอิง
โดม สุขวงศ์. (2539). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์. ต้นอ้อ แกรมมี่.
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, ศิริน โรจนสโรช. (ม.ป.ป.). ภาพถ่าย ภาพยนตร์และพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th
เรียบเรียงโดย
รัชกร คงเจริญ ดวงรัตน์ ดีขั้ว และบรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: www.stou.ac.th/link/SOqqq
YouTube: www.stou.ac.th/link/MgCo3
SoundCloud: www.stou.ac.th/link/JeR1u
Blockdit: www.stou.ac.th/link/a55qF