บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SS2 EP.16 เปิดสวิตซ์ความรู้: ไฟฟ้า…ใช้อย่างไร ให้คุ้ม (ฉบับง่ายๆ สบายกระเป๋า)

ในชีวิตประจำวันของเราปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่การใช้พัดลม หรือแอร์ ช่วยให้เราเย็นสบาย ตู้เย็นช่วยรักษาสภาพอาหารให้สดใหม่ ไฟฟ้าช่วยให้แสงสว่างในการมองเห็น คอมพิวเตอร์ใช้ในการทำงาน ใช้ลิฟต์ในการขึ้นอาคาร เป็นต้น ไฟฟ้าจึงเป็นพลังงานที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง หากไม่มีไฟฟ้าใช้ชีวิตเราจะวุ่นวายมาก เราต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ตื่นแม้กระทั่งระหว่างนอน

โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจในปี 2567 เกี่ยวกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ กฟผ. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 20.56 น. มีค่าเท่ากับ 36,477.80 เมกะวัตต์ และอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567  ในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

สาเหตุของการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในช่วงกลางคืนมาจาก

1. อุณหภูมิ ที่ร้อนสะสมจึงมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการเปิดแอร์ หรือพัดลมระบายความร้อน
2. การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น โดยช่วงกลางวันจะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า แต่เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมดลงในช่วงเวลากลางคืนจึงหันกลับมาใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า เป็นต้น
3. การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
 ในช่วงเวลากลางคืนที่เริ่มมียอดการใช้เพิ่มมากขึ้น 

ห้องสมุด มสธ. มีเคล็ดลับดีๆ ในการประหยัดไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาแนะนำดังนี้

6 วิธีง่ายๆ อยู่บ้านอย่างไรให้ประหยัดไฟ

1. เปิดหน้าต่างรับลม รับแสงธรรมชาติ การเปิดหน้าต่างจะช่วยประหยัดไฟได้ดี เพราะช่วยให้แสงและลมธรรมชาติหมุนเวียนเข้ามาในบ้านได้อย่างเต็มที่ จะทำให้บ้านสว่างและเย็นโดยไม่ต้องเปิดไฟหรือเครื่องปรับอากาศ
2. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน การเสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้ไม่ได้มีการเชื่อมต่อ ยังทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ ดังนั้นเพื่อการประหยัดไฟ เมื่อใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้วควรปิดและถอดปลั๊กหลังจากเลิกใช้งานทุกครั้ง
3. เลือกใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟธรรมดา หลอดไฟ LED ให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไฟแบบธรรมดา แต่กินไฟน้อยกว่า และมีอายุการใช้งานที่มากกว่า ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่เสี่ยงอันตรายจากรังสี UV หรือสารตะกั่วเหมือนหลอดไฟธรรมดาทั่วไป
4. ไม่เสียบปลั๊กชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งไว้ เมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้ว โดยปกติแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือจะชาร์จเต็มภายในไม่กี่ชั่วโมง การเสียบชาร์จทิ้งไว้แม้แบตเตอรี่เต็มแล้วจะทำให้กินไฟ และเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ เราจึงควรถอดปลั๊กออกทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยและช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า
5. เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม 26 องศาเซลเซียส ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส เย็นสบายกำลังดี แถมช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการตั้งอุณหภูมิที่ต่ำลง นอกจากนี้การปิดเครื่องปรับอากาศเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ก่อนออกจากห้อง สามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้เช่นกัน
6. เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 บ่งบอกระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้น รวมถึงประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อปี เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม และประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

นอกจากการประหยัดไฟด้วยวิธีดังกล่าว เรามารู้จักเทคโนโลยีแผงโซลาร์ที่ติดตั้งได้ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด หรือโฮมออฟฟิศ เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. แบบ Monocrystaline เป็นเทคโนโลยีแผงโซลาร์ชนิดแรก ๆ ที่ผลิตขึ้นมาและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ มีลักษณะเป็นแผ่นซิลิคอนหนา มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบ Polycrystalline แต่ราคาก็สูงกว่า

2. แบบ Polycrystalline เป็นเทคโนโลยีแผงโซลาร์ที่นิยมใช้งานมากที่สุด เพราะราคาถูกกว่า Monocrystal-Ine แต่ยังคงคุณสมบัติและประสิทธิภาพการใช้งานใกล้เคียงกัน

3. แบบฟิล์มบาง (Thin Film) เป็นเทคโลยีใหม่ ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนและเวลาในการผลิตแผ่นฟิล์มเนื่องจากบาง น้ำหนักเบาและมีความยึดหยุ่น มีความไวแสงมาก สามารถรับแสงอ่อนๆได้ จึงทำงานได้ดีในพื้นที่เมฆมาก มีฝุ่นละออง หรือแม้กระทั่ง มีฝนตกชุก

ข้อดีของแผงโซลาร์ โซลาร์รูฟท็อป หรือหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์

1. ช่วยลดค่าไฟฟ้า สามารถคืนทุนได้

2. ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวบ้าน เวลาขายบ้าน

3. ความร้อนในบ้านจะลดลง เพราะมีแผ่นโซลาเซลล์ช่วยกันความร้อนอีกชั้น

4. ช่วยลดสภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่สะอาดต่อคนและโลก

การประหยัดไฟฟ้าสามารถทำได้ง่ายๆ 6 ขั้นตอนที่กล่าวมา หรืออยากประหยัดไฟฟ้าและประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถติดตั้งแผงโซลาร์ไว้ที่บ้าน ท่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือชื่อเรื่อง เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นเครื่องผลิตเงิน โดยหนังสือเล่มนี้ จะกล่าวถึงประโยชน์ของพลังงานสะอาดที่มีในธรรมชาติ โดยเมืองร้อนอย่างประเทศไทยซึ่งถูกแสงแดดแผดเผาตลอดทั้งปีสามารถพัฒนาและนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ผ่าน “โซลาร์รูฟท็อป”  หรือ “การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา” เราจะประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น ช่วยลดสภาวะโลกร้อน และทำให้เราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างสูงสุด

อ้างอิง

กัญณัฏฐ์ บุตรดี. (14 เมษายน 2567). โลกเดือด! ดันการใช้ไฟฟ้าพุ่ง จับตาพ.ค.นี้ การใช้ไฟพีคทุบสถิติอีกครั้ง?. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1122015

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2566).  ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด. https://www.egat.co.th/home/statistics-demand-latest/

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2565). 6 วิธีง่าย ๆ อยู่บ้านอย่างไรให้ประหยัด. https://www.egat.co.th/home/save-energy-for-all-20220830/

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์. (2558). เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นเครื่องผลิตเงิน. โพสต์บุ๊กส์.

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด. (5 เมษายน 2567). ค่าไฟ 2567 หน่วยละกี่บาท ค้างได้กี่เดือน จ่ายช้าได้กี่วัน สรุปครบ. https://www.ktc.co.th/article/knowledge/salary-man/electricity-bill

bnbhome. (ม.ป.ป.). แผงโซล่าเซลล์มีกี่แบบ ติดตั้งสำหรับบ้านต้องแบบไหน. https://www.bnbhome.com/th/articles/type-of-solar-panel

เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรภร  พื้นพรหม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ