การเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสเมืองชลบุรีและจันทบุรีแล้ว ต่อมาในระหว่างวันที่ 23
ถึง 24 เมษายน 2470 ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่เมืองตราดซึ่งอยู่สุดแดนสยามทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ในโอกาสนี้ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแข่งขันเรือใบ และเสด็จประพาสน้ำตกธารมะยม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อ ป.ป.ร. 2470 ไว้เป็นอนุสรณ์รำลึก ณ บริเวณหน้าผา
บนน้ำตกชั้นที่ 2 ด้วย
ย้อนรำลึกเมืองตราด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยกดินแดน จังหวัดตราด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรี (เกาะกง) เพื่อให้ฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2499 ได้ทรงยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกเอาเมืองตราด และเกาะต่าง ๆ กับเมืองด่านด้านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนมา การที่เราต้องเสียดินแดนไปจำนวนมาก เพื่อแลกเอาเมืองตราดกลับคืนมานั้น ถือว่ารัชกาลที่ 5 ทรงพระปรีชาสามารถและทรงมีความผูกพันกับชาวเมืองตราดมาโดยแท้จริง โดยก่อนหน้าที่จะเสียเมืองตราดไปนั้น ได้เคยเสด็จประพาสและทรงเยี่ยมราษฎรมาแล้วหลายครั้ง ชาวเมืองตราดจึงถือเอาวันที่ 23 มีนาคมของทุกปี เป็นวันเอกราชของจังหวัดตราด โดยร่วมน้ำใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรักษาเมืองตราดไว้ให้คงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้
น้ำตกธารมะยม
น้ำตกธารมะยม เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ชั้นที่ 3 เป็นชั้นที่สวยที่สุด อยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด มีต้นน้ำมาจากอ่าวคลองมะยม ลักษณะของน้ำตกเป็นธารน้ำไหลผ่านลงมาเป็นชั้นๆ ตามร่องหินแกรนิตสีดำ มีหน้าผาสูงชันจนเกือบตั้งฉาก บริเวณโดยรอบเป็นป่าดิบชื้น อากาศร่มรื่นเย็นสบาย
ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกแห่งนี้ โดยทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อไว้ที่หน้าผาน้ำตกเพื่อเป็นที่ระลึก
เอกสารอ้างอิง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2537). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7. วัชรินทร์การพิมพ์.
ผู้เรียบเรียง
กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.