การท่องเที่ยววิถีชนบท สรุปนิยามความหมายได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวในหมู่บ้านพื้นที่ชนบทที่มีวิถีชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับประสบการณ์จริง ลงมือปฏิบัติจริงระหว่างการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเป็นการท่องเที่ยวที่ได้ซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ ของชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันพบว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว ไม่เพียงพอเนื่องจากทรัพยากรแต่ละพื้นที่เริ่มลดลง เสื่อมโทรม ปัญหาสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในแต่ละปี ประกอบกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกนำมาใช้ในงานด้านการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนและคนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
หนังสือการท่องเที่ยววิถีชนบท ความคิดเชิงสร้างสรรค์กับการเพิ่มมูลค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยสาระความรู้ 8 บท แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวชุมชนท้องถิ่น ชุมชนชนบทกับการท่องเที่ยว การให้นิยามความหมายวิวัฒนาการของชุมชนแต่ละยุคสมัย รวมถึงบริบทแวดล้อมของชนบทไทย
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิด และทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวทางการคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวด้านการออกแบบกิจกรรม ผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ฯลฯ
ส่วนที่ 3 เป็นการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชนบท ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีการนำแนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาใช้จัดการออกแบบ จัดการการท่องเที่ยวในชุมชนจนได้รับรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทไทย
ตัวอย่างความสำเร็จของหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชนบท ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีการนำแนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในการจัดการ ออกแบบการท่องเที่ยวในชุมชน จนได้รับรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทไทย
ตัวอย่างที่ 1 รางวัลสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง ตำบลหาดส้มแป้นเป็นตำบลเล็กๆ ลักษณะเป็นที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีทิวทัศน์เป็นภูเขาสวยงาม เป็นแหล่งแร่ดีบุก แร่ดินขาวที่สำคัญของประเทศ ชุมชนยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยมีการรวมกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำตำบล ได้แก่ ไม้กวาดดอกอ้อ น้ำยาล้างจาน เซรามิกบ้านหาดส้มแป้น แนวทางการจัดการท่องเที่ยววิถีชนบทของชุมชน เช่น การจัดตั้งกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น โดยนำเอาทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่คือแร่ดินขาว มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้เช่น ชุดกาแฟ ถ้วย จานเซรามิก เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชมสามารถทำกิจกรรมระบายสีเซรามิกสร้างผลงานด้วยตนเองได้
ตัวอย่างที่ 2 รางวัลสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีการเชื่อมโยงแนวคิดสีเขียวร่วมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับตลาดกรีนดี ไนท์มาร์เก็ต ซึ่งในอดีตตลาดเก่าสรรพยาเจริญรุ่งเรืองมาก มีทั้งโรงเหล้า โรงฝิ่น โรงไม้ เป็นแหล่งรวบรวมและขายสินค้าในพื้นที่จังหวัดชัยนาทแต่ต่อมาซบเซาและปิดตัวลง ชุมชนจึงร่วมกันฟื้นฟูตลาด โดยปรับเปลี่ยนเป็นตลาดกรีนดี ไนท์มาร์เก็ต เน้นในเรื่องการจัดการขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก สร้างเอกลักษณ์ตลาดเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กาบกล้วย กระบอกไม้ไผ่ และมีการประชาสัมพันธ์เคมเปญของตลาด คือ หิ้วถุงผ้า พกพากระติก ติดแก้วน้ำมา
จากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เนื้อหาของหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ และมีประโยชน์มาก ๆ ผู้อ่านสามารถนำแนวทางต่าง ๆ นี้ ไปใช้เป็นแนวทางออกแบบ จัดการการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีในแต่ละพื้นที่ได้ค่ะ ทำให้นักท่องเที่ยวได้ประสบการณ์ในหลากหลายมิติที่แตกต่างกัน จนทำให้นักท่องเที่ยว เกิดความประทับใจ และต้องการกลับมาเที่ยวซ้ำ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอยืมหนังสือเพื่อใช้บริการได้ที่ห้องสมุด มสธ. ตรวจสอบสถานะ