กำเนิดเครื่องฉายภาพยนตร์เครื่องแรก
เครื่องฉายภาพยนตร์เครื่องแรกนี้มีชื่อว่า “KINETOSCOPE” หรือเรียกกันว่า เครื่องฉายถ้ำมอง ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2432 โดย โทมัส อัลวา เอดิสัน และผู้ร่วมงานของเขาชื่อว่า วิลเลียม เคนเนดี้ ดิคสัน
มีลักษณะเป็นตู้สูงประมาณ 4 ฟุต สามารถดูได้คราวละ 1 คนเท่านั้น ด้วยการดูผ่านช่องเล็กๆ ที่อยู่ด้านบนของเครื่อง กลไกภายในมีฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายด้วยกล้องคิเนโตกราฟ ซึ่งเอดิสันประดิษฐ์ขึ้นเอง มีความยาวประมาณ 50 ฟุต พาดไปพาดมาภายในเครื่อง โดยหนังที่ฉายนั้นมีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
ต่อมาได้มีพี่น้องตระกูล ลิมิแอร์ (Lumiere) ได้พัฒนาเครื่องนี้ให้สามารถฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ ทำให้สามารถรับชมได้ทีละหลายคน จึงเป็นต้นแบบของเครื่องฉายภาพยนต์เรียกว่า ซีเนมาโตกราฟ (Cinimatograph) และกลายมาเป็นคำว่า ซีนีม่า (Cinema) ที่แปลว่า โรงภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก
ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก ที่ได้รับการออกฉายให้กับสาธารณะชนครั้งแรกชื่อเรื่องว่า Arrival of a Train at La Ciotat สร้างขึ้นโดยพี่น้องตระกูล ลิมิแอร์ ในปี ค.ศ.1895 มีความยาวประมาณ 50 วินาที
ฉายผ่านเครื่องซีเนมาโตกราฟที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดฉายครั้งแรกที่ ห้องใต้ถุนของร้าน Grand Cafe ในกรุงปารีส
หลังจากนั้นความนิยมดูภาพยนตร์ที่ฉายด้วยเครื่องซีเนมาโตกราฟก็ขยายวงกว้างไปทั่วโลก และ 2 ปีต่อมาชาวสยามก็ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ที่ฉายขึ้นจอเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ กรุงเทพฯ โดยนักฉายภาพยนตร์เร่ที่ชื่อว่า เอส. จี. มาร์คอฟสกี
เครื่องฉายภาพยนตร์
เครื่องฉายภาพยนตร์เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับฉายภาพยนตร์ในระบบฟิล์ม เพื่อให้ปรากฏภาพเคลื่อนไหวบนจอ
ฉายภาพ เป็นการใช้แสงส่องผ่านฟิล์มแล้วตกกระทบบนจอฉายภาพด้วยระบบกำเนิดแสง Carbon are lamp
ซึ่งเป็นการนำแท่งคาร์บอนต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง เพื่อสร้างให้เกิดแสงสว่างสีขาวนวล นอกจากนี้ภายในระบบกำเนิดแสงยังมีส่วนปิดครอบ และส่วนสะท้อนแสง ซึ่งทั้งหมดจะทำหน้าที่กำเนิดแสง เพื่อให้ได้แสงสะท้อนจากหลอดไฟให้ผ่านฟิล์มไปยังจอฉายภาพ
ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องฉายภาพยนตร์ มี 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่เกิดภาพ ประกอบด้วยอุปกรณ์ ดังนี้
• ม้วนฟิล์ม 2 ม้วน ม้วนแรกจะส่งฟิล์มเข้าสู่เครื่องไปยังม้วนที่สองเป็นม้วนเก็บฟิล์ม
• กลไกลที่ทำให้ฟิล์มเดิม ได้แก่ เฟืองหนามเตย (Sprocker) และล้อ (Roller) เพื่อช่วยให้ฟิล์มเดินได้เรียบ
• ประตูฟิล์ม (Film Gate) เป็นช่องให้ฟิล์มผ่านแสงจากหลอดฉายเพื่อฉายออกสู่จอ
• ส่วนที่ทำให้เกิดแสง ได้แก่ หลอดฉาย แผ่นสะท้อนแสง เลนซ์รวมแสง และเลนซ์ฉาย
• มอเตอร์ สำหรับให้กลไกลต่างๆ หมุน - ส่วนที่ทำให้เกิดเสียงประกอบด้วย
• ล้อสำหรับแถบเสียงผ่าน (Sound Drum)
• หลอดไฟ (Exciter Lamp) สำหรับส่องไปยังแถบเสียง
• หลอดสำหรับเปลี่ยนจากแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า (Photoelectric Cell)
• เครื่องขยายเสียง (Amplifier)
• ลำโพง (Speaker)
การบำรุงรักษาเครื่องฉายภาพยนตร์
- ทำความสะอาดเลนซ์ โดยใช้กระดาษเช็ดเลนซ์ และนำยาล้างเลนซ์
- ทำความสะอาดประตูฟิล์ม โดยใช้แปรงอ่อนๆ ถ้าฝุ่นจับแน่นใช้ไม้หรือพลาสติกเขี่ยออก ไม่ควรใช้โลหะเขี่ยบริเวณประตูฟิล์ม ทำให้ฟิล์มชำรุดขณะฉาย
- ควรเก็บไว้ในที่ความชื้นน้อย และไม่มีฝุ่น
การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เครื่องฉายภาพยนตร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตาม
เครื่องฉายดิจิทัลสามารถฉายภาพคุณภาพสูงผ่านไฟล์ดิจิทัลโดยไม่ต้องพึ่งพาฟิล์ม ทำให้การจัดเก็บและการฉายภาพยนตร์สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน เครื่องฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์และการรับชมที่บ้านได้พัฒนาไปสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด เครื่องฉายระบบ 4K, 8K รวมถึงระบบ IMAX ได้เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ในการรับชมภาพยนตร์ที่คมชัดยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี 3D และการฉายภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เครื่องฉายภาพยนตร์เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในวงการบันเทิง ตั้งแต่เครื่องฉายฟิล์มรุ่นแรก จนถึงเครื่องฉายดิจิทัลในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
เดอะสแตนดาร์ด. (2562, 28 ธันวาคม). 28 ธันวาคม 1895 – กำเนิดโรงภาพยนตร์. https://thestandard.co/onthisday28121895/
ไทยรัฐทีวี. (2557, 27 กันยายน). ที่มา ของเครื่องฉายภาพยนตร์เครื่องแรกของโลก…? [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/photo?fbid=845106428856552&set=a.709428689090994
เนชั่นทีวี. (2567, 13 กุมภาพันธ์). 129 ปี กำเนิด KINETOSCOPE เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องแรกของโลก. https://www.nationtv.tv/news/foreign/378940180
พิลาศ เกื้อมี. (2527). เทคนิคการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). เจริญวิทย์การพิมพ์.
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. (2564, 13 ธันวาคม). เครื่องฉายภาพยนตร์. https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5434