STOU Read it Now EP. ที่ 21 จะมาแนะนำหนังสือที่มีชื่อว่า สมองฟิตเนรมิตด้วยธรรมชาติบำบัด ซึ่งเป็นผลงานการเขียนร่วมกันของจิตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและโรคสมองเสื่อม แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและผู้สูงอายุ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาท แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านสุคนธบำบัด ชาวไต้หวัน
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากมีญาติสายตรงเป็น 1 คน คนนั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูงกว่าคนปกติ 4 เท่า หรือหากมีญาติสายตรงเป็น 2 คน ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูงกว่าคนปกติถึง 40 เท่า ระยะเวลาของโรคสมองเสื่อมเบื้องต้นไปจนถึงขั้นรุนแรงจะใช้เวลาประมาณ 9-10 ปี จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดจากการรักษาโรคสมองเสื่อมแบบไม่ใช้ยา ที่ไม่จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ใช้วิธีบำบัด 9 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด เป็นการกระตุ้นระบบความคิดและความทรงจำ โดยใช้ทฤษฎีการใช้พัฒนาการทำลายความถดถอย คือการใช้อวัยวะอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การทำงานของอวัยวะส่วนนั้นๆ คงที่หรือพัฒนาขึ้น แต่ถ้าหากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานจะทำให้การทำงานของอวัยวะส่วนนั้นถดถอยลง สำหรับกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง เช่น เกมทายปริศนา การเดินเล่น การวาดรูป เป็นต้น
แบบที่ 2 โภชนบำบัด : การกินบำรุงสมอง จากงานวิจัยพบว่าการกินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่มีการปรุงแต่งน้อย เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช น้ำมันมะกอก จะเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับระบบหลอดเลือดหัวใจ ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และยังเพิ่มความสามารถในการรู้คิด ลดอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน
แบบที่ 3 การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด และมีบทบาทสำคัญด้านการชะลอความแก่ ภาวะถดถอยของสมองด้านการรู้คิด และอาจช่วยให้ความจำและการรู้คิดของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมดีขึ้น ชะลอการพัฒนาของโรคได้
แบบที่ 4 ดนตรีบำบัด ทั้งแบบที่เป็นผู้เล่นเองเพื่อแสดงความเป็นตัวเอง และแบบที่เป็นผู้ฟังเพื่อกระตุ้นอวัยวะรับความรู้สึกให้เกิดจินตนาการ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นการบำบัดแบบเสริมจากการกินยาหรือช่วงพักฟื้น ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นการรักษาหลัก ดนตรีบำบัดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย กระตุ้นความทรงจำและสื่อสารได้ดีขึ้น เนื้อสมองส่วนที่เสียหายทำให้ผู้ป่วยมักจะลืมเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นแต่จะจำเรื่องราวในอดีตได้ ทำให้ตอบสนองต่อการรักษาด้วยบทเพลงเก่า
แบบที่ 5 สุคนธบำบัด หรือการบำบัดด้วยกลิ่นที่คุ้นเคยเพื่อชักจูงความทรงจำ หรืออาจนำน้ำมันหอมสกัดมาใช้ในการดูแลร่างกายเพื่อปรับอารมณ์ให้อยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น ข้อควรระวังคือต้องเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมินต์ หรือโรสแมรี่ กับผู้ป่วยที่มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เพราะมีคุณสมบัติทำให้ตื่นตัว
แบบที่ 6 สวนบำบัดและแสงแดดบำบัด สี กลิ่น และผิวสัมผัสของต้นไม้ จะช่วยกระตุ้นการสัมผัส การดมกลิ่น และการมองเห็นของผู้ป่วย ขณะเดียวกันผู้ป่วยจะรู้สึกถึงพลังชีวิตผ่านการประคบประหงมดูแลต้นไม้ที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แสงแดดยังส่งผลดีและไม่มีผลข้างเคียงกับอาการต่างๆ ของผู้ป่วย และยังช่วยให้หลับได้ดีในตอนกลางคืนอีกด้วย
แบบที่ 7 สัตว์บำบัด ทฤษฎีพื้นฐานของสัตว์บำบัดคือ การใช้ความใกล้ชิดระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง กระตุ้นให้สุขภาพจิตดีขึ้น รวมถึงสุขภาพกายและคุณภาพชีวิตด้วย โดยสัตว์ที่นำมาบำบัดจะต้องมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยมีการแพ้ขนสัตว์ หรือมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานบกพร่องหรือเปล่าด้วย
แบบที่ 8 การบำบัดด้วยความทรงจำ เป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้สมองส่วนที่ยังเหลือค้นหาความทรงจำส่วนบุคคล โดยผู้บำบัดที่มีประสบการณ์สามารถใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำในอดีตที่ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจ เช่น ความสนใจในวัยเด็ก ดาราที่ชื่นชอบ รวมถึงความทรงจำกลุ่มโดยการเลือกสมาชิกเข้ากลุ่มบำบัดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งไปคนละทิศละทาง และแบบสุดท้ายคือ แบบที่ 9 จิตบำบัด จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า อารมณ์ ความเครียด และความจำ ที่ถูกควบคุมโดยสมองมีความเกี่ยวข้องเป็นส่งผลต่อการ เช่น หากตกอยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ความจำแย่ลงและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต้องการคนเติมเต็มด้านจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับคนที่เดินเหินไม่สะดวกที่ต้องการคนพยุง การปลอบประโลมใจผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่าให้จิตวิญญาณผู้ป่วยขาดหายไป