STOU Storian Podcast EP.19 แฟชั่นสยามสมัยรัชกาลที่ 7 : พัฒนาสู่ความซิวิไลซ์ของแฟชั่นสยาม

การแต่งกายนอกจากความสวยงามแล้ว ยังสามารถบ่งบอกบริบทสังคม เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมในยุคนั้น ๆ ได้อีกด้วย 

รัชกาลที่ 4 จุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่แฟชั่นตะวันตก   

ประเทศไทยเริ่มรับกระแส “อิทธิพลชาติตะวันตก” เข้ามา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังจากการลงนาม ‘สนธิสัญญาเบาว์ริง’ พ.ศ. 2498 จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายในราชสำนัก รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ริเริ่มธรรมเนียมให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก

รัชกาลที่ 5 ยุคแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสมัยใหม่เต็มตัว  

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สยามเกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ จนมีความก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศอย่างเด่นชัดที่สุด รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกาย รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น อาทิ ทรงประกาศให้เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย มาเป็น ไว้ผมยาวแบบฝรั่ง ที่เรียกว่า “ผมรองทรง” ทรงคิดฉลองพระองค์ “ราชปะแตน” ซึ่งมาจากคำว่า “ราช” กับ “PATTERN” 

ด้านการแต่งกายของสตรีนั้นเปลี่ยนจากการนุ่งสไบ มีการนำผ้าตะวันตกอย่างผ้าลูกไม้มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และมีเสื้อที่ดัดแปลงจากแบบยุโรป คือ เสื้อแขนพอง หรือ เสื้อแขนหมูแฮม เครื่องประดับเสื้อมีริบบิ้น ลูกไม้ ลูกปัด ดิ้น และเลื่อมสีต่าง ๆ

วัฒนธรรมตะวันตกเจริญสู่สยามอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชาวบ้านเริ่มแต่งกายตามฐานะ และสภาพสังคม ผู้ชายทั่วไปนุ่งกางเกงแพร หรือนุ่งผ้าม่วง ผู้หญิงทั่วไปเริ่มนุ่งผ้าซิ่น และเกิดแฟชั่นเสื้อแขนสั้น

รัชกาลที่ 7 เอกลักษณ์การแต่งกายสู่ความซิวิไลซ์แบบตะวันตก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 บริบทของสังคมสยามในยุคสมัยนนั้นก้าวเข้าสู่ความ “ซิวิไลซ์” มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังส่งผลมาสู่เรื่องเอกลักษณ์การแต่งกายด้วย แฟชั่นเสื้อผ้าในยุคนั้นมีความเป็นสากลมากขึ้น ตามวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เพราะคนไทยในสมัยนั้นได้มีโอกาสไปศึกษาที่ต่างประเทศ และส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ต่างประเทศ จากการทรงส่งเสริมของรัชกาลที่ 7 นอกจากนี้ เครื่องแต่งกายมีการปรับรูปแบบให้เรียบง่าย และประหยัดขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ  

แฟชั่นสุภาพสตรี

แฟชั่นสตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นได้เลิกนุ่งโจงกระเบน หันมานิยมนุ่งซิ่นสำเร็จ คือ ผ้าถุงที่เย็บให้พอดีกับเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด ความยาวซิ่นระดับเข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวคลุมสะโพก เสื้อแขนสั้นหรือหรือไม่มีแขน นิยมตกแต่งชายเสื้อโดยทำเป็นโบผูกทิ้งชายยาวไว้ด้านข้างหรือมีระบายแบบชุดฝรั่ง เลิกสะพายแพร เครื่องประดับนิยมใส่สายสร้อยและตุ้มหูยาว สวมกำไล สวมถุงน่อง รองเท้าส้นสูง ส่วนทรงผมนิยมไว้ ผมทรงบ๊อบ (bob) และผมสั้นดัดลอน หรือที่เรียกว่า “ผมคลื่น” 

อารยธรรมอเมริกันนั้นเฟื่องฟูมาก ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ และได้เจริญขึ้นมาเป็นลำดับ จนมีอิทธิพลต่อแฟชั่นการแต่งกายของสตรีที่หันการนุ่งกระโปรงมากขึ้น แต่ยังคงนุ่งกันเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มสังคมชั้นสูง ข้าราชการ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๔ สตรีไทยได้ปฏิวัติเครื่องแต่งกายให้ทัดเทียมกับชาวยุโรปอีกครั้ง คือ จากผ้าถุงสำเร็จได้เปลี่ยนมาเป็นกระโปรง

แฟชั่นสุภาพบุรุษ

ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการ ตลอดจนคนในสังคมชั้นสูง นิยมแต่งกายเสื้อราชประแตน นุ่งผ้าม่วง โจงกระเบน สวมถุงเท้า รองเท้า ไว้ผมรองทรง สวมเป็นหมวกสักหลาดมีปีก หรือหมวกกะโล่ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายปกติสำหรับไปในงานพิธีหรืองานราชการโดยทั่วไป แต่เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ จึงเริ่มมีการแต่งกายแบบชาวตะวันตก โดยใส่เสื้อคอแบะ ผูกเนกไท นุ่งกางเกงสแล็คขายาว ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบนหรือสวมกางเกงแพร สวมเสื้อธรรมดา และยังคงไม่นิยมสวมรองเท้าอยู่ตามเดิม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีวัฒนธรรมบางอย่าง ให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและให้เหมาะสมกับกาลสมัยโดยรัฐบาลเห็นว่า การนุ่งผ้าม่วง โจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน นั้นล้าสมัย จึงประกาศให้นุ่งกางเกงขายาวแทน แต่ยังไม่เป็นการบังคับ โดยยังผ่อนผันให้นุ่งผ้าม่วงได้บ้าง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสยาม

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นยุคสมัยที่สตรีเริ่มมีบทบาทนอกบ้านมากขึ้น ทั้งจากการแพร่ขยายของวัฒนธรรมตะวันตก การได้มีโอกาสในการศึกษาที่มากขึ้น และการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ กอปรกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ทรงมี “บทบาทแบบสากล” มากยิ่งขึ้น ในฐานะ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสยาม” ที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีต่าง ๆ และตามเสด็จพระสวามี ทรงเยือนต่างประเทศ ซึ่งบทบาทอย่างสมเด็จพระราชินีของโลกตะวันตกเช่นนี้ ส่งผลต่อแบบแผนการแต่งกายของพระองค์ที่ทรงมีความใส่พระทัยเป็นอย่างมาก ด้วยทรงตระหนักว่าความสวยงามนี้ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนพระองค์ แต่เป็นเรื่องของธรรมเนียมทางการทูต และภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย

แฟชั่นการแต่งกายของชาวสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 7 การรับวัฒนธรรมตะวันตกมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่เดิม นำมาสู่เอกลักษณ์การแต่งกายที่ความเป็นสากลมากขึ้น เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า สยามประเทศเข้าสู่ความ “ซิวิไลซ์” แบบตะวันตก 

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

SoundCloud: https://www.stou.ac.th/link/6dRDj
YouTube: https://www.stou.ac.th/link/gFTCD
Blockbit: https://www.stou.ac.th/link/WDrea