เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่เป็นโรควิตกกังวล หรือ Panic disorder ผู้เขียนเล่าว่าในตอนเด็กคิดว่าการเล่าเรื่องความทุกข์ของตัวเองให้ผู้อื่นฟัง จะเล่าไปเพื่ออะไร ผู้ฟังจะได้ประโยชน์อะไร จนกระทั่งพบว่ามีหลายคนที่เป็นเหมือนกัน
เริ่มแรกของอาการนี้เกิดขึ้นระหว่างการรอทำฟัน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นอาการปกติของการกลัวหมอฟันเหมือนทุกครั้ง และน่าจะหายเองได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น อาการกลัวและสั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถที่จะทำฟันได้ วันต่อมามีความกังวลเพิ่มขึ้นไปอีกจนทำให้กินข้าวเช้าไม่ได้ พะอืดพะอม เหมือนจะอาเจียนตลอดเวลา ระหว่างทางไปโรงเรียนร่างกายรู้สึกวูบ ตัวชา หัวฟุ้งเหมือนมีฝุ่นเม็ดเล็กๆ กระจายทั่วสมอง ควบคุมตัวเองไม่ได้เลย และเป็นแบบนี้ทุกวันที่ไปโรงเรียน ตอนกลางคืนก็เช่นกันไม่สามารถที่จะคุมสติ ลุกขึ้นมาพะอีดพะอมกลางดึกเสมอ จนวันหนึ่งแม่มาถามว่าอยากไปหาจิตแพทย์มั้ย เลยตอบตกลงไปเพราะอยากจะหาใครสักคนมาช่วยให้ความทรมานนี้ดีขึ้น
หลังจากที่เข้าสู่กระบวนการรักษาในครั้งแรกหมอสรุปว่าผู้เขียนเป็นโรคสมาธิสั้นที่เกิดจากแม่ ผู้เขียนจึงได้ย้อนกลับถึงความทรงจำวัยเด็กที่มีพี่ชายและลูกพี่ลูกน้องอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนตามๆ กันขึ้น ข้อเสียของการเรียนตามกันคือไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องเรียน เพราะพี่ทุกคนก็เรียนเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่ไม่ชอบมากที่สุดก็คือการว่ายน้ำ แม่จะดุและบังคับให้เรียนด้วยเหตุผลที่ว่าทุกคนเขาก็เรียนกัน ทุกคนเขาก็ทำได้ ทำไมถึงจะทำไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงจะต้องทำทุกอย่างได้เหมือนที่ทุกคนทำ จนถึงขั้นที่แม่บอกว่าถ้าไม่เรียนก็ตัดแม่ตัดลูกกันไปเลย ทำให้ผู้เขียนพยายามคุยกับแม่ให้น้อยที่สุด การที่กลัวแม่ดุเป็นเหมือนความคิดอัตโนมัติ ทั้งที่บางทีไม่ได้มีอะไรเลย
จากนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องไปหาหมอฟัน ทำให้ความรู้สึกเดิมกลับมาอีกครั้ง จนต้องเปลี่ยนคลินิกใหม่ หาหมอฟันอยู่ 3-4 รอบ ยิ่งใช้เวลาในการรักษามาก ยิ่งปวดมากก็ยิ่งเครียดมาก อยู่อย่างไม่มีความสุข กลัวและเครียดอยู่ตลอดเวลาจนถึงขึ้นอยากหลุดพ้น จนวันหนึ่งตัดสินใจบอกให้ครอบครัวรู้ พอที่บ้านได้ยินก็ให้รีบติดต่อหมอให้เร็วที่สุด อธิบายไปให้หมดว่ามีอาการยังไง แบบไหน หมอบอกให้มาเจอกัน หลังจากการหาหมอครั้งนี้ก็คือการได้ยาตัวใหม่มา และถูกวินิจฉัยโรคใหม่จากที่เข้าใจว่าเป็นสมาธิสั้นมาตลอดหลายปี เปลี่ยนเป็น General anxiety disorder with panic attack ที่มีการแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคแพนิค จากการรักษาอย่างต่อเนื่องเวลาผ่านไปพักใหญ่ทำให้อาการเริ่มดีขึ้น และอีกอย่างที่ดีขึ้นคือความสัมพันธ์กับแม่ ได้พูดคุยกันมากขึ้น และทำให้มั่นใจว่าครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัย
ต่อมาหมอแนะนำให้เข้ารับการบำบัดแบบ CBT หรือ Cognitive Behavior Therapy เป็นการบำบัดแบบพูดคุยกับนักบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิดและอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะได้จัดการกับอารมณ์และกระบวนการคิดจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ โดยการกำหนดเป้าหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังทำไม่ได้ โดยมีประโยคหนึ่งจากนักบำบัดที่ว่า ‘ความคิด มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้’ เพราะที่ผ่านมาผู้เขียนไม่สามารถที่จะหยุดคิดไปก่อนหรือคิดไปเองได้เลย ต่อให้สถานการณ์นั้นจะห่างจากปัจจุบันเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์ ก็ไม่สามารถหยุดคิดได้ และกลัวว่าสิ่งที่คิดไปก่อนมันจะกลายเป็นจริงขึ้นมา หลังจากที่ได้ยินประโยคดังกล่าว ทำให้หลายครั้งเมื่อเริ่มคิดไปเอง ผู้เขียนก็จะดึงประโยคนี้กลับมาบอกตัวเองเสมอ หลังจากจบการบำบัดผู้เขียนยังคงมีอาการกังวลเวลานั่งรถ แต่มีวิธีการจัดการกับความคิดของตัวเองอย่างเป็นลำดับ และหมอเคยบอกว่า โรคนี้มีทางหาย แต่ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ และพอหายก็จะไม่กลับเป็นอีก ผู้เขียนจะใช้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ และต้องอยู่กับมันให้ได้ เท่านั้นเอง
หากสนใจหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3EeFVTW