STOU Read it Now! EP 29 “สุขภาพที่ดีในสถานที่ทำงาน การจัดการออฟฟิสซินโดรมด้วยกลยุทธ์การออกกำลังกาย”

STOU Read it Now! รายการแนะนำหนังสือดี ๆ ของห้องสมุด มสธ. เป็นหนังสือด้าน สุขภาพที่ดีในสถานที่ทำงาน การจัดการออฟฟิสซินโดรมด้วยกลยุทธ์การออกกำลังกาย เขียนโดย ศ.นพ. วิโรจน์ ไววานิชกิจ หนังสือเล่มนี้เป็นคำแนะนำเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน และการรักษา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการผสมผสานการออกกำลังกายเข้ากับการทำงาน เพื่อดูแลสุขภาพโดยรวมและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บ มุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์การออกกำลังกายที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปฏิบัติในที่ทำงานได้อย่างเหมาะสม

โรคออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่เกิดจากการใช้งาน หรือจากการทำงานในท่าทางเดิม ๆ ซ้ำๆ ไม่มีการยืดคลายกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ๆ จนเกิดอาการอักเสบ และสะสมจนทำให้เกิดอาการเรื้อรัง โดยมีปัจจัยมาจากท่าทางในการนั่ง การยืน หรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสมกับสรีระโครงสร้างของร่างกาย รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือร่างกายขาดสารอาหาร สาเหตุเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นและสะสมให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจจนส่งผลให้เกิดอาการโรคออฟฟิศซินโดรมได้

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

อาการโดยรวม ได้แก่ เส้นตึง ปวดเมื่อย โดยมักจะเกิดที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลังส่วนล่าง ปวดคอ แล้วลามไปปวดศรีษะ ลักษณะคล้ายๆ ปวดไมเกรน หรือปวดศีรษะข้างเดียว หรือมีอาการชาลงปลายมือ ปลายเท้า เป็น ๆ หาย ๆ อาการตาล้าที่เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จนกลายเป็นความเหนื่อยล้าและความเซื่องซึมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการการทำงาน

การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม

การออกกำลังกายเพื่อบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้คำแนะนำ และมีเครื่องออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เพราะหากเราออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในท่าที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บ และเกิดการอักเสบมากขึ้นกว่าเดิม การออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะจุด เช่น บริเวณ คอ บ่า ไหล่ และหลังส่วนล่าง เป็นการเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณนั้น ๆ นอกจากการออกกำลังกาย วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน และการปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง เช่น ปรับระดับของโต๊ะทำงาน เก้าอี้ทำงาน ปรับท่าทางการนั่งให้ถูกต้องโดยควรนั่งหลังตรง ให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา และควรลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายทุก ๆ สองชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ

การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง และปรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี รวมถึงการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ทำงานอย่างความสุข มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

หากสนใจหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3G1vOTi