ร้อยภาพเล่าเรื่อง: พระราชนิยมด้านภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิยมด้านการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงสนพระทัยศึกษาเรียนรู้ด้านการภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง ทั้งจากการอ่านหนังสือและวารสาร การทอดพระเนตรภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ทรงแสวงหาประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ด้วยการเสด็จประพาสเยี่ยมชมกิจการภาพยนตร์ในต่างประเทศ ทรงได้พบกับดาราฮอลลีวูดหลายท่าน อาทิ “ชาร์ลี แชปลิน” ดาราตลกคนดังแห่งยุคภาพยนตร์เงียบ ดักลาส แฟร์แบงค์ และแมรี่ พิคฟอร์ด ผู้เป็นภรรยา ดาราผู้ทรงอิทธิพลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และได้เสด็จเยี่ยม Thomas Edison นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ นอกจากนี้ทรงทัศนศึกษาโรงภาพยนตร์เสียงในฟิล์มของบริษัท Paramount Pictures ซึ่งถือเป็นของใหม่ในยุคนั่นอีกด้วย

ครั้งเมื่อเสด็จครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดพระหัตถ์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ และทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ของสยามในหลายด้าน อาทิ ทรงจัดตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งประเทศสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ทรงตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473 ซึ่งเป็นกฏหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์ฉบับแรก เพื่อควบคุมการสร้างและการจัดฉายภาพยนตร์ จนได้รับสมญานามว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นคนแรกของโลก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (คนที่สองจากซ้าย) กับพระประยูรญาติทรงสนพระทัยกล้องถ่ายรูปตั้งแต่ทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงฉลองพระองค์ทหาร ทรงใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์

เมื่อครั้งทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหาร ปี พ.ศ. 2467 ก่อนเสด็จกลับสยาม พระองค์ได้เสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนั้นได้เสด็จทอดพระเนตรเยี่ยมชมกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูดและทรงได้พบกับดาราที่มีชื่อเสียงหลายท่าน

ในภาพจากซ้าย ดักลาส แฟร์แบงส์ ซีเนียร์ เจ้าของกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ ยูไนเต็ด อาร์สติส สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร แมรี่ พิคฟอร์ด และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังการเสด็จครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงโปรดให้มีการจัดฉายภาพยนตร์เพื่อทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ ณ ที่ประทับ ทั้งภายในพระราชวัง พระตำหนัก และเรือพระที่นั่ง เป็นประจำทุกคืนวันพุธและวันเสาร์ โดยทรงเลือกรายการภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง และถ้าเป็นภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศส พระองค์จะทรงแปลหรือทรงเล่าเรื่องพระราชทานให้แก่ผู้ชมด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล้องถ่ายภาพยนตร์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้กล้องถ่ายรูปส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนฟิลม์กล้องถ่ายภาพ เมื่อครั้งเสด็จประพาสไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดพระหัตถ์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ

ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ เรียกว่าภาพยนตร์ทรงถ่าย ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นภาพยนตร์อัมพร ซึ่งประกอบด้วย ภาพยนตร์บันเทิง ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญและพระราชพิธีต่าง ๆ โดยนอกจากทรงถ่ายทำด้วยพระองค์เองแล้ว ยังมีข้าราชบริพารและเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดคนอื่น ๆ ที่ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ทรงบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์

นอกจากพระองค์ทรงมีพระราชนิยมด้านภาพยนตร์แล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณส่งเสริมกิจการภาพยนตร์ในสยาม อาทิ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์มือสมัครเล่นภายในราชอาณาจักรได้แบ่งปันผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงมหรสพแห่งชาติ โดยพระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” ถือเป็นโรงภาพยนตร์ระบบแอร์ที่ทันสมัยที่สุดของเอเชียในยุคนั้น

ศาลาเฉลิมกรุง ขณะกำลังก่อสร้าง

ศาลาเฉลิมกรุงเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก หลังก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2476 ถือเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ รองรับผู้ชมได้มากกว่า 1,000 คน ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉาย คือ มหาภัยใต้ทะเล (Below the Sea 1933

เรียบเรียงโดย

ธนพล นนทสุตวงศ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

เอกสารอ้างอิง

ชัยเลิศ พิชิตรพรชัย. (2556.). ๑๒๐ สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

โดม สุขวงศ์. (2539.). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ (1st ed.). สำนักพิมพ์ ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.ม.ร.ว. มณียฉัตร แก้วกิริยา. (2538). ศาลา-เฉลิม-กรุง. อินเตอร์สแตนดาร์ด พริ้นติ้ง.

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

STOU Storian Podcast EP.6 จุดเริ่มต้นภาพยนตร์…สู่พระราชนิยมพระปกเกล้าฯ