27 มกราคม 2469 พระราชพิธีสมโภชช้างเผือกคู่พระบารมี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความฉลาดแสนรู้ของพระยาช้างเผือกนั้นคงจะคล้ายๆ กันทุกช้าง ช้างเผือกเป็นพระราชพาหนะมงคลคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ มีลักษณะที่ต่างจากช้างทั่วไป มีตำรากำหนดรูปพรรณสันฐาณ ตระกูลวงศ์ช้างเผือก ชื่อว่า “ตำราพระคชลักษณ์”

อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นถิ่นกำเนิดช้างพลายสำคัญในปี 2469 วันที 6 พฤษภาคม ลูกช้างสำคัญที่เกิดในวันนั้น มีลักษณะพิเศษ คือ ผิวกายสีดอกบัวโรย ขนตามตัวและศีรษะเป็นสีแดงปลายขาว ตาสีฟ้าอ่อน เพดานขาว อัณฑโกสขาว กำเนิดในปางช้างของบริษัทบอเนียว เมื่อลูกช้างอายุ 4 เดือน ลักษณะเหล่านี้ปรากฏชัดขึ้น ตรวจสอบแล้วเป็นพระยาช้างเผือกตระกูลอัคนิพงศ์ พระคชลักษณ์ปทุมหัตถี เป็นช้างช่างเล่น รักความสะอาด เด็กคนใดเนื้อตัวไม่สะอาดก็ไม่เล่นด้วย เจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่บริษัทบอเนียว ราษฏรชาวเชียงใหม่น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2469 ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรลูกช้างที่ดอยสุเทพ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า “ในหลวงทรงเครื่องยูนิฟอร์มทหารบกเหมือนกันกับท่านอมรทัต สมุหราชองครักษ์ และทรงยืนอยู่ด้วยกันที่นอกคอกช้างอยู่ พอเปิดคอกให้เดินออกมาเฝ้าฯ ช้างนั้นก็ตรงไปยกงวงขึ้นแตะหัว อันเป็นกิริยาไหว้ของช้างที่ตรงในหลวงโดยเฉพาะ ไม่ใช่ท่านอมรทัต ทุกคนที่อยู่ในนั้นต้องหัวเราะว่ารู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นในหลวง เพราะสอนให้ช้างดูพระบรมรูปได้นั้นออกจะเกินไป เชื่อได้ยาก”

และวันที่ 27 มกราคม 2469 มีพระราชพิธีสมโภชช้าง บริเวณหน้าศาลากลางมณฑลพายัพ เชียงใหม่ มีการจัดขบวนแห่ช้างจากโรงช้างเชิงดอยสุเทพ เจ้าพนักงานจัดโต๊ะหมู่บูชา ประดิษฐานพระชัยวัฒน์หลังช้าง ตั้งพระเต้าปทุมนิมิตน้อยทองเงินและเครื่องนมัสการทองทิศตั้งอาสนะสงฆ์ ทอดพระราชอาสน์และเก้าอี้ที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ โปรดเกล้าฯให้นำกระบวนแห่งช้างพลายสำคัญและลิงเผือกเข้าสู่โรงพิธี ทรงประเคนผ้าไตรและย่ามแก่ พระสงฆ์ 20 รูป พระสงฆ์ครองไตรแล้วมีพิธีเจริญพระพุทธมนตร์ ทรงประเคนใบวัตถุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา พระราชาคณะถวายอดิเรกแล้วถวายพระพรลากลับ ทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์และทรงสวมมาลัยพระราชทานช้างเผือก พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช เจ้าพนักงานประโคมเครื่องดุริยางค์ครบ 3 รอบ พราหมณ์รวมแว่นดับเทียนจุณเจิมเสร็จจึง เสด็จขึ้น

ทั้งนี้ ในการพบช้างเผือก มักจะได้พบวานรเผือกด้วย ครั้งนั้นก็เช่นกัน โดยวานรเผือกนั้น ทรงรับเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินพิษณุโลก ก่อนถึงเชียงใหม่ นักโทษชายผู้หนึ่งให้บิดานำวานรเผือกมาถวาย ในพระราชพิธีสมโภชช้าง จึงมีการนำวานรเผือกเข้ากระบวนแห่ด้วย

ในพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงจัดฟ้อนถวายให้  เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนโปรยข้าวตอกดอกไม้ เจ้านายฝ่ายเหนือทรงฟ้อนถวาย

ในปีต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระราชวังดุสิต และโปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามว่า “พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ”

ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระคชลักษณ์ สามารถหาความรู้ได้จากหนังสือ และเอกสารจดหมายเหตุ ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ดังนี้

  1. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469
  2. ภาพวาดลักษณะของช้างเผือก “พระคชลักษณ์ปทุมหัตถี” โดยลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 6 โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร กุมภาพันธ์ พ.ศ.2470
  3. ตำนานแห่งช้าง
  4. พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างคู่พระบารมีรัชกาลที่ 7
  5. นิทรรศการออนไลน์ ช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว