พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ดังนั้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และเสนาบดี จึงได้พร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ซึ่งทรงเป็นองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2465 ที่บัญญัติไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส ให้สมเด็จพระราชอนุชาองค์ถัดมาซึ่งร่วมพระบรมราชชนนีเดียวกันเป็นรัชทายาท พระองค์จึงทรงรับสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิยมยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาโดยตลอด เมื่อแรกเริ่มรัชกาล ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีเพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงคัดเลือกองคมนตรี 40 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการและทดลองฝึกหัดวิธีการของรัฐสภา และทรงพัฒนาการเมืองระดับท้องถิ่นโดยจัดการปกครองแบบเทศบาล หรือที่ทรงเรียกว่า ประชาภิบาล เพื่อเป็นการฝึกฝนให้ราษฎรเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตย ที่สำคัญ คือ ทรงเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพระราชทานแก่ปวงชน แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ล้มเลิกไป เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบรัฐสภาของประเทศไทย

ทรงประกาศสละราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ และจุดมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คือการให้อำนาจปกครองตนเองแก่ประชาชนมากขึ้น แต่หลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองก็เกิดความวุ่นวายภายในประเทศกอปรกับพระสุขภาพอนามัยมิได้แข็งแรง ประชวรพระโรคต้อกระจก จึงตัดสินพระราชหฤทัย เสด็จฯ ประพาสยุโรปเพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่างๆ และทรงรับการผ่าตัดพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ

เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการและทรงพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถประสานกับรัฐบาลเพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เวลา 13.45 น. ซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชหัตถเลขาของพระองค์ไว้ในฐานะผู้แทนรัฐบาล โดยความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ มีใจความว่า

 “…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7
นิทรรศการพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติฉบับเต็ม จัดแสดง ณ ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ความในพระราชหัตถเลขาแสดงถึงพระราชประสงค์จำนงหมายที่จะให้ประเทศ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งพระราชหฤทัยสำนึกตระหนักในพระราชธรรมจรรยาของพระมหากษัตริย์สยามที่จะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่บัดนั้นพระองค์เองไม่อาจทำได้สำเร็จ เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจการปกครองมิได้อยู่ในพระหัตถ์อีกต่อไป แม้ได้ทรงขอให้ผู้มีอำนาจทำการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพ ทั้งนี้ ในการที่ทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ได้ตอกย้ำหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล หลักความยุติธรรม และทรงเสียสละเพื่อทรงรักษาไว้ซึ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์จักได้คงอยู่

ถือเป็นอีกหนึ่งเอกสารที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทย ซึ่งพระองค์ทรงกำชับให้รัฐบาลนำออกประกาศแก่ประชาชนโดยเปิดเผยเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน เสมือนหนึ่งทรงอำลาประชาชนชาวไทย

พระชนมชีพหลังสละราชสมบัติ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และไม่ทรงตั้งรัชทายาทเพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติ ข้าราชบริพารดั้งเดิมในพระองค์จำนวนไม่มาก ทรงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบสามัญชน โดยมิได้เสด็จนิวัติประเทศไทยอีกเลย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

เมื่อปี 2491 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่สถิตในสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงบำเพ็ญล้วนก่อประโยชน์แก่มวลอาณาประชาราษฎร์ ด้วยหลักทศพิธราชธรรม และพระราชหฤทัยปรารถนาที่จะให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่สุขสงบ และมีความเจริญก้าวหน้าไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่