สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารติดเล่า Podcast EP. 3 ในวันสงกรานต์นี้นอกจากจะสาดน้ำคลายร้อนแล้วก็ยังมีอาหารที่ช่วยคลายร้อนที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนอย่างเช่น “ข้าวแช่” อาหารชาวมอญที่มีตำนานเกี่ยวกับวันสงกรานต์ และกลายเป็นอาหารของชาววัง เรื่องราวจะเป็นยังไงมาฟังกันเลยครับ กับรายการบรรณสารติดเล่า Podcast EP. 3 ข้าวแช่สินบนเทวดาในวันสงกรานต์สู่อาหารชาววัง
“ขเปิงซังกราน หรือข้าวสงกรานต์”
ข้าวแช่เป็นอาหารที่ชาวมอญปรุงขึ้นอย่างพิถีพิถันในวันสงกรานต์ ชาวมอญในไทยเรียกว่า “เปิงซังกราน” ที่แปลว่า “ข้าวสงกรานต์” ข้าวแช่นั้นถือว่าเป็นอาหารที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์
ตามจารึกวัดโพธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้จารึกเรื่องราวตำนานสงกรานต์ก็มีการพูดถึงการหุงข้าวแช่ เรื่องมีอยู่ว่า เศรษฐีผู้หนึ่งเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติแต่ขาดบุตร ธิดาสืบสกุล จึงถูกขี้เมาในหมู่บ้านดูถูกว่ามีทรัพย์แต่ไม่มีลูก เศรษฐีจึงทำพิธีบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ก็ไม่ได้ผล จนถึงวันหนึ่งในฤดูร้อนอันเป็นวันนักขัตฤกษ์ปีใหม่ พระอาทิตย์ย้ายราศีมีนสู่ราศีเมษ เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีได้เอาข้าวสาร ล้างน้ำ 7 ครั้งจนข้าวใสบริสุทธิ์ แล้วหุงนำไปบููชารุขเทวดาที่ต้นไทรพร้อมด้วยอาหารต่าง ๆ ขับประโคมดนตรีตั้งจิตอธิษฐานขอลูกกับพระไทร พระไทรจึงไปบอกพระอินทร์ให้ประทานลูกแก่เศรษฐี ความปรารถนาของเศรษฐีจึงบรรลุได้ มีบุตรชายสมใจชื่อว่าธรรมบาลกุมาร และธรรมบาลผู้นี้เองที่ชนะพนันกับพระพรหมจนพระพรหมต้องตัดหัวให้เป็นของเดิมพัน และให้ธิดาพระพรหมทั้ง 7 เอาเศรียรพระพรหมมาแห่ในวันมหาสงกรานต์ซึ่งธิดาเหล่านั้นจึงกลายมาเป็นนางสงกรานต์ดังที่เราได้รู้จักกันนั่นเอง
เรื่องที่ผมเล่าไปนับว่าเป็นตำนานวันสงกรานต์เพิ่มบรรยากาศให้การกินข้าวแช่ได้ออกอรรถรสยิ่งขึ้น แต่เรื่องราวของเศรษฐีที่หุงข้าวแช่ติดสินบนเทวดาให้ได้ลูกสมใจปรารถนาก็กลายมาเป็นแบบอย่างที่ชาวมอญทำตาม พอเป็นอาหารที่ใช้เซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์กรรมวิธีการปรุงจึงมีขั้นตอนที่พิถีพิถันในข้าวแช่ต้องมี ในสมัยโบราญถึงกับต้องปักราชวัติฉัตรธงกันเลยที่เดียว
พิธีกรรมนี้กลายมาเป็นประเพณีที่ชาวมอญยังดำรงรักษาไว้ในวันมหาสงกรานต์ ชาวมอญก็จะตั้งศาลบูชาเทวดาด้วยข้าวแช่ นำข้าวแช่มาถวายพระที่วัดประเทศไทยซึ่งพบเห็นประเพณีเหล่านี้ได้ในชุมชนมอญ เช่นที่ชุมชนเกาะเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ที่มีประเพณีแห่ข้าวแช่ถวายพระถือเป็นงานบุญใหญ่ของชุมชน
วัฒนธรรมการทำข้าวแช่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวมอญมาช้านาน สำหรับเมืองไทยข้าวแช่เป็นที่รู้จักของชาววังเมื่อ สตรีชาวมอญได้เข้ารับราชการในฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ของชาวมอญจึงได้พัฒนาเป็นอาหารเช้าวัง เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นมอญมีชาติตระกูล ที่ชำนาญในการทำข้าวแช่ได้ดีกว่าใคร ๆ ข้าวแช่ของคุณจอมได้ขึ้นโต๊ะเสวยพระเจ้าอยู่หัวถึง 3 กาล คือรัชกาลที่ 4 5 และ 6
“เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ผู้เผยแพร่ข้าวแช่สู่สามัญชน”
และเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นท่านนี้เองที่ทำให้ข้าวแข่ขาววังเป็นอาหารที่แพร่หลาย เมื่อครั้งที่่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังนครคีรี เจ้าจอมท่านก็ได้ตามเสด็จไปถวายงานด้วย ข้าวแช่จึงถูกถ่ายทอดสู่เหล่าข้าหลวงห้องเครื่องและแพร่หลายไปสู่สามัญชนย่านเมืองเพชรบุรีในที่สุด
เรื่องราวข้าวแช่ทำให้เห็นถึงข้อสำคัญ 2 ประการ คือ
- ข้าวแช่สะท้อนให้เห็นถึงความลื่นไหลทางวัฒนธรรมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แม้เป็นภูมิปัญญาที่รับมาจากที่อื่นแต่ก็สามารถต่อยอดและพัฒนาจนเหมาะสมและเข้ากับวิถีชีวิต
- ภูมิปัญญาด้านการปรุงอาหาร ไม่ได้ปรุงเพื่อรับประทานให้อิ่มเพียงอย่างเดียว แต่ปรุงเพื่อให้อาหารได้เป็นเครื่องคลายทุกข์ เช่นข้าวแช่ที่คิดประดิษฐ์ทำให้รับประทานเพื่อดับกระหายคลายทุกข์จากความร้อนในเดือนเมษา
ผู้ฟังล่ะครับมีความคิดเห็นอย่างไรกับข้าวแช่ก็สามารถแสดงความคิดเห็นกันมาได้ หรืออยากให้บรรณสารติดเล่าของเราเล่าเรื่องอะไรก็แสดงความคิดเห็นกันมาได้เลยครับ ครั้งหน้ารายการบรรณาสารติดเล่าของเราเล่าเรื่องอะไรก็สามารถติดตามกันได้ทุกวันที่ 1และวันที่ 16 ของทุกเดือนเวลา 1 ทุ่มตรง วันนี้ต้องขอลาไปก่อนสวัสดีครับ
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของข้าวแช่ได้ที่ห้องสมุด มสธ. ดังนี้
- ข้างสำรับมอญ / องค์ บรรจุน. Call number: TX725 อ22 2557
- กระยานิยาย : สารพัดเรื่องราวน่ารู้จากรอบๆ สำรับ / ส. พลายน้อย. Call number: TX724.5.T5 ส44 2559
- ศิลปวัฒนธรรม Art & culture ผลิตโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). Call number: ทั่วไป
- หนังสือชุดนนทบุรีศึกษา
เรียบเรียง: โยธิน ครุธพันธ์ (บรรณารักษ์)