ความเป็นมา กว่าจะเป็น…”มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

10 กรกฎาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2521 ถือเป็นวันมิ่งมงคลและวันสถาปนามหาวิทยาลัย

  1. แนวคิดการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยเปิด” ในประเทศไทย
  2. กว่าจะเป็นชื่อ “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”
  3. รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  4. 5 กันยายน 2521 วันสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แนวคิดการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยเปิด” ในประเทศไทย

แนวคิดในการเปิดโอกาสให้มีความเสมอภาคทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยมีมานานแล้ว เห็นได้จากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี 2477 และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2514 ในลักษณะมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาที่มีชั้นเรียน

ในเดือนมิถุนายน 2517 รัฐบาลซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งดั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา และคณะอนุกรรมการดำเนินการเรื่องอุดมศึกษา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นกรรมการและประธานคณะอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการดำเนินการเรื่องอุดมศึกษา ได้เสนอแนวคิดในการปฏิรูปการอุดมศึกษาโดยเสนอให้มีมหาวิทยาลัยที่สอนระบบเปิดแบบไม่มีชั้นเรียน เพื่อสนองความต้องการของผู้ประสงค์ที่จะได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับปริญญาซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยสื่อการสอน ทั้งทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องมาเข้าขั้นเรียนตามปกติ ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการ จำนวน 20 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักวิชาการคนไทย ประกอบด้วยนักการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ คณะอนุกรรมการได้เสนอโครงการมหาวิทยาลัยเปิด พร้อมทั้งวางรูปแบบและยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเปิด รวมระยะเวลาจัดทำโครงการประมาณ 1 ปี และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2520 เรียกได้ว่า “มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้เกิดขึ้นจากความคิด สติปัญญา และความสามารถของคนไทยโดยแท้” 

กว่าจะเป็นชื่อ “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

สำหรับ ในขั้นตอนการศึกษาและจัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเรื่อง การตั้งชื่อมหาวิทยาลัยเปิด เพื่อเสนอต่อ นายเกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในขณะนั้น โดยได้เสนอชื่อมหาวิทยาลัยให้เลือก 4 ชื่อ ได้แก่ มหาวิทยาลัยประชาธิปก มหาวิทยาลัยเปิด (The open Universiy) มหาวิทยาลัยโทรศึกษา (Tele University) และ มหาวิทยาลัยวิชญากร

มหาวิทยาลัยประชาธิปก

เป็นแนวทางการตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นพระนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีเหตุผลคือ ในรัชกาลของพระองค์ท่านได้เริ่มมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ก็มีปรัชญาเดียวกัน คือ “ประชาธิปไตยทางการศึกษา โดยขยายโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างกว้างขวางและแก่ชนทุกชั้น”

มหาวิทยาลัยเปิด (The open Universiy) และมหาวิทยาลัยโทรศึกษา (Tele University)  

เป็นแนวทางการตั้งชื่อตามลักษณะวิธีการจัดการศึกษา ตามที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษและเยอรมนี  ตามลำดับ

มหาวิทยาลัยวิชญากร

เป็นแนวทางการตั้งชื่อเฉพาะที่ระบุภารกิจ ตามจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัย โดยชื่อ มหาวิทยาลัยวิชญากร แปลว่า บ่อเกิดหรือที่กำเนิดผู้รู้ ผู้ฉลาด หรือนักปราชญ์ ซึ่งตรงกับจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ ในการมุ่งขยายการศึกษาให้ประชาชนได้มีความรู้อย่างกว้างขวาง

รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2521 การประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบเลือกชื่อ “มหาวิทยาลัยประชาธิปก” ซึ่งเป็นพระนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตามแนวคิดการตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญ เนื่องด้วยในรัชสมัยของพระองค์ ได้ริเริ่มมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตรงตามปรัชญาหลักของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยทางการศึกษา โดยขยายโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างกว้างขวางและแก่ชนทุกชั้น และให้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้พระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ตามมติคณะรัฐมนตรี

สำนักราชเลขาธิการ รล.0002/6399 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2521 สำเนาหนังสือพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยที่จะเปิดใหม่ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช”

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

5 กันยายน 2521 วันสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2521 มหาวิทยาลัยจึงถือเป็นวันมิ่งมงคลและวันสถาปนามหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2521 หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้  เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2523 โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนเรียน จำนวน  82,037 คน  สำหรับสาขาวิชาที่เปิดสอน 3 สาขาวิชาแรก คือ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ  

       

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2541). 20 ปี มสธ.แห่งพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. มหาวิทยาลัย.

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2553). แรกริ เริ่มมีที่ มสธ. สำนัก.