รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล ผู้อำนวยการคนที่ 4 ของสำนักบรรณสารสนเทศ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543)

รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานจัดการข้อมูลสารสนเทศ พัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ พัฒนางานบริการ ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ และที่สำคัญเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันงานจดหมายเหตุตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยจนถึงระดับชาติ

ประวัติ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน (มหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน) ระดับปริญญาโท 2 แห่ง ในสาขาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขา Overseas Records Management and Archive Administration จาก University College London, United Kingdom. ระดับปริญญาเอกเน้นการจัดการเอกสารและการบริหารสารสนเทศ จาก Monash University, Melbourne, Australia และเมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้เริ่มทำงานที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ มสธ. ซึ่งนับว่าเป็นบรรณารักษ์คนแรกของศูนย์ห้องสมุด หลังจากนั้นได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริการสนเทศที่บุกเบิก พัฒนาและกำกับดูแลการบริหารจัดการงานจดหมายเหตุและสารสนเทศอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ ระหว่าง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

ในระยะเวลา 3 ปี ที่ท่านได้กำกับดูแลและบริหารงานนั้น ห้องสมุด มสธ. ได้มีพัฒนาการในหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศ อาทิ ห้องสมุดได้มีการจัดหาและพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศการศึกษาทางไกล ฐานข้อมูลดรรชนีวารสาร และฐานข้อมูลบรรณานุกรม ในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อให้สำนักมีความพร้อมที่จะรองรับการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย ด้านห้องสมุดอัตโนมัติ อาทิ ได้ขยายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี โดยพัฒนาให้สามารถบริการและสืบค้นได้จาก World Wide Web เพื่อให้ศูนย์วิทยพัฒนาบริการ ศูนย์วิทยบริการบัณฑิตศึกษา และผู้รับบริการค้นจากนอกมหาวิทยาลัยได้ ด้านงานบริการได้ผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนางานบริการให้มีประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน อาทิ โครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคและกลยุทธ์ให้บริการ โครงการฝึกอบรมเสริมทักษะด้านคอมพิวเตอร์ โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ปัญหา Y2K กับงานห้องสมุด โครงการสัมมนาทางวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรเพื่อพัฒนาเครือข่ายงานบริการบรรณสารสนเทศ โครงการบริหารงานจดหมายเหตุในยุคเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และด้านความร่วมมือ อาทิ ได้ร่วมมือกับสถาบันบริการสารสนเทศต่างประเทศในการจัดบริการสารสนเทศให้รองรับการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัย Charles Sturt University ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการจัดหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวร่วมกับมหาวิทยาลัยโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล

อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือ ในด้านงานจดหมายเหตุ ท่านเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันการบริหารจัดการงานจดหมายเหตุ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ โดยในระดับประเทศเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยเมื่อ พ.ศ. 2544 และเป็นอดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย รวมทั้งในปัจจุบันท่านยังเป็นที่ปรึกษาของสำนักบรรณสารสนเทศในด้านจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? บทสัมภาษณ์ “๒๐ ปี สมาคมจดหมายเหตุไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล” ??bit.ly/3A1vj4w
? หนังสือ “20 ปี มสธ. แห่งการพัฒนา” ??bit.ly/3AsVkuV
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” ??bit.ly/3LhZXe7

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

[sc name=”libinfoservice” ][/sc]