ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต ผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ภูเก็ต พังงา ตรัง และระนอง เพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรและชมกิจการต่าง ๆ ภายในมณฑลภูเก็ต ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 รวมระยะเวลา 18 วัน โดยการเสด็จเยือนมณฑลภูเก็ตในครั้งนี้ นับเป็นพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ครั้งที่ 2 ต่อจากการเสด็จมณฑลพายัพเมื่อปี พ.ศ. 2469

มณฑลภูเก็ต มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกขนาดใหญ่ และเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันแทนมะริด ทวาย ที่เคยเสียให้กับพม่า นอกจากนี้ ยังเป็นมณฑลที่เป็นชายแดนทำให้มีชาวต่างด้าวอพยพหรือเข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก นับได้ว่าเป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

ห้องสมุด มสธ. ได้รวบรวมภาพถ่ายหายากอันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต มาให้ได้รับชม

เส้นทางการเสด็จเริ่มจากวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2471 ประทับรถไฟพระที่นั่งออกจากสถานีจิตรลดา เสด็จฯ ถึงสถานีพัทลุง เมื่อวันที่ 25 มกราคม และทรงรถยนต์พระที่นั่งไปยังถ้ำถ้ำคูหาสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน พร้อมลงพระปรมาภิไธยย่อ “ปปร.” เคียงข้างกับพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.”ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

จากนั้น ได้เสด็จไปจังหวัดตรัง ให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าและเยี่ยมชมกิจการการปกครอง โรงพยาบาลและโรงเรียนของคณะมิชชั่นนารีอเมริกัน ต่อมาวันที่ 27 มกราคม เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปยังจังหวัดระนอง และโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนและข้าราชการในพื้นที่เข้าเฝ้าและพระราชทานพระบรมราโชวาท ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ในจังหวัดระนอง สกุล ณ ระนอง ได้ทูลเกล้าจัดเลี้ยงถวายพระองค์ (อ่านเพิ่มเติม)

ซุ้มต้อนรับการเสด็จที่ประชาชนในจังหวัดระนองได้ร่วมทำขึ้น

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2471 เสด็จถึงจังหวัดภูเก็ตเพื่อไปเยี่ยมชมกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกรูปแบบต่าง ๆ ภายในมณฑลภูเก็ต พร้อมกับพระราชทานพระบรมราโชวาท หลังจากเสร็จสิ้นการทอดพระเนตรกิจการเหมืองแร่ก็มีการให้ประชาชนทั่วไปเข้าเฝ้าพร้อมพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ลงจากเรือเล็ก ณ ท่าเรือฉลอง จังหวัดภูเก็ต

พ่อค้าและนายเหมืองแร่ชาวต่างชาติ เฝ้ารับเสด็จ ณ อ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต

ภาพบรรยากาศภายในตัวเมืองภูเก็ตในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 สังเกตได้ว่าจะมีบรรยากาศความเป็นจีนแฝงเอาไว้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่ออกมารับเสด็จ จังหวัดภูเก็ต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จทอดพระเนตรกิจการเหมืองนาลึก จังหวัดภูเก็ต

ทั้งสองพระองค์เสด็จทอดพระเนตรกิจการเหมืองนาลึก จังหวัดภูเก็ต

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็ตพระราชดำเนินทอดพระเนตรเรือดูดแร่ จังหวัดภูเก็ต

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงจังหวัดพังงา ทรงประทับ ณ พลับพลา จังหวัดพังงา ให้ข้าราชการและราษฎรเข้าเฝ้า เมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดพังงา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการสร้างทางหลวงเชื่อมระหว่างตัวเมืองพังงากับภูเก็ต เพื่อความสะดวกในการคมนาคมยิ่งขึ้น เมื่อทรงประทับอยู่ในจังหวัดพังงา ได้เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งไปยังอ่าวตะกั่วทุ่ง และทอดพระเนตรความงามของภูมิประเทศอันงามตามธรรมชาติและหมู่เกาะต่าง ๆ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 เสด็จพระราชดำเนินประพาส เขาปินะ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยที่ถ้ำ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2471 เสด็จขึ้นรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนจากสถานีตรัง เพื่อกลับคืนสู่พระนคร และถึงสถานีหลวงจิตรลดา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยมีเจ้านายและข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ

เอกสารอ้างอิง

สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471, นนทบุรี : สถาบัน.

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

บทความออนไลน์: พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจเมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดระนอง

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์: พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471

เรียบเรียงโดย

ธนพล นนทสุตวงศ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ