ปฐมบรมราชานุสรณ์รำลึกงานฉลองพระนคร 150 ปี 

ปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดงานฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชปรารภที่จะสร้างอนุสรณ์สถานสำคัญขึ้น 2 สิ่ง คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือพระปฐมบรมราชานุสรณ์ และสะพานพระพุทธยอดฟ้า

เมื่อปี พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนครแล้วพระราชทานนามเมืองหลวงใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” หรือเรียกอย่างสังเขปว่า “กรุงเทพมหานคร” โปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง และจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดงานฉลองพระนครขึ้นอีกครั้งในโอกาสครบรอบ 100 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2425 ถือเป็นงานสมโภชพระนครครั้งที่ 2

ในปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดงานฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชปรารภที่จะสร้างอนุสรณ์สถานสำคัญขึ้น 2 สิ่ง สิ่งแรก คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของสยามประเทศ สิ่งที่ 2 คือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานพระพุทธยอดฟ้า” เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างพระนครฝั่งตะวันออกกับธนบุรีฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน  

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์โดยรวมประมาณ 4 ล้านบาท แต่ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินให้จำนวนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินเรี่ยไรของประชาชนทุกชนชั้นให้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างอนุสรณ์สถาน ซึ่งถือเป็นการทำบุญ โดยได้มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกไว้ 3 ชนิด สำหรับมอบให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจ เหรียญชนิดแรก เป็นเหรียญบรอนซ์ ขนาดเท่าเหรียญดอลล่าร์แจกให้แก่ผู้บริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 500 บาท เหรียญชนิดที่สอง เป็นเหรียญเงินและกาไหล่ทอง ขนาดเท่าเหรียญบาท มีหูติดริบบิ้นสำหรับติดอก พระราชทานให้แก่ข้าราชการไว้เป็นเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีฉลองพระนครเท่านั้น และเหรียญชนิดที่สาม เป็นเหรียญบรอนซ์ ขนาดเท่าเหรียญ 50 สตางค์ (ในสมัยรัชกาลที่ 7) สำหรับแจกแก่ผู้บริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 10 บาท  

อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทุกรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 เวลา 17.30 น.

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 มีพระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานอย่างเป็นทางการ โดยพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เป็นสะพานเหล็กยกเปิดปิดตรงกลางด้วยระบบแรงไฟฟ้าเพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านไปได้ ออกแบบโดย บริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยกระบวนการพยุหยาตรา

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.

กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, เนียนศิริ ตาละลักษมณ์, ฉวีงาม มาเจริญ, สุภรณ์ อัศวสันโสภณ, เพลินพิศ กำราญ, บุหลง ศรีกนก, ศันสนีย์ วีระศิลปชัย, ศิรินันท์ บุญศิริ, วีณา โรจนราธา, สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์ และปราณีต นิยายลัย. (2537). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พิมพ์ครั้งที่ 2). อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

เรียบเรียงโดย

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ