หมอชาวบ้าน ฉบับมิถุนายน 2566

จากข่าวดังที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ ไซยาไนด์ (cyanide) ” ที่มีการนำมาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม ทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปได้รับอันตรายจนเสียชีวิต เหตุใดคนทั่วไปจึงมีสารอันตรายนี้ไว้ในครอบครองได้ แท้จริงแล้วสารนี้มีไว้ใช้สำหรับทำอะไรกันแน่ และหากได้รับสารไปแล้วควรแก้พิษอย่างไร มาหาคำตอบได้จาก หมอชาวบ้าน ฉบับมิถุนายน 2566

ไซยาไนด์ ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตกระดาษ สิ่งทอ พลาสติก หนังเทียม ลักษณะเป็นผง ไม่มีสี มีกลิ่นเหมือนอัลมอนด์ขม ละลายน้ำได้ดี ไซยาไนด์ยังพบได้ในธรรมชาติด้วย ได้แก่ มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด ในส่วนของการนำมาใช้ในอุตสาหกรรม ได้มีข้อปฏิบัติที่ต้องควรระวังในขณะปฏิบัติงาน เช่น ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศ ห้ามบริโภคอาหาร น้ำดื่ม ในขณะปฎิบัติงาน จากข่าวที่นำเสนอจะเห็นว่าหลังจากได้รับสารไซยาไนด์เข้าไปในร่างกายแล้ว จะมีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที โดยมีอาการปวดศีรษะ ใจสั่น ชัก และหมดสติ หากได้รับสารอันตรายเข้าไป ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที ไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีผายปอด เพราะผู้ช่วยเหลืออาจได้รับสารอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้

ข่าวนี้เป็นเรื่องของฆาตกรรมต่อเนื่อง ซึ่งหมอชาวบ้านก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องด้วยเช่นกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด แรงจูงใจที่ก่อเหตุ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นฆาตกรต่อเนื่องด้วย การถอดบทเรียนจากกรณีนี้ หากญาติติดใจสาเหตุการเสียชีวิต ควรให้ชันสูตรศพอย่างละเอียดทันที สำหรับคนร้ายในคดีแบบนี้จะได้รับข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การลงโทษคือประหารชีวิตซึ่งเป็นโทษสูงสุด

นอกจากนี้ยังมีบทความสุขภาพอื่นๆ เช่น

  • ไม้จิ้มฟัน vs ไหมขัดฟัน แบบไหนดีกว่ากัน
  • ระวัง “เอสแอลอี” อาจรุนแรงถึงชีวิต
  • ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันร้ายในตัวคุณ

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหมอชาวบ้าน ฉบับมิถุนายน 2566 ที่ห้องสมุด มสธ. อาคารบรรณสาร ชั้น 1 มุมวารสาร และศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. 10 แห่ง

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น