คอรร์ราโด เฟโรจี (Prof. Corrado Feroci) หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “อาจารย์ศิลป์” หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” เข้ารับราชการในสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลไทยประสงค์จะหาช่างปั้นมาปฏิบัติงานราชการ เพื่อฝึกคนไทยให้สามารถปั้นรูปได้อย่างตะวันตกและให้เรียนรู้ถึงเทคนิคต่าง ๆ ในประติมากรรมด้วย รัฐบาลไทยจึงติดต่อกับรัฐบาลอิตาลีขอให้คัดเลือกช่างปั้นให้ ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกและได้รับคัดเลือกให้มารับราชการในสยาม โดยเดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ. 2466 และได้ทำสัญญาเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ในตำแหน่งช่างปั้นสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง
จุดเริ่มต้นพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการฉลองพระนคร 150 ปี ที่มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 ว่าในวาระครบ 150 ปีแห่งการสถาปนาพระนครและพระบรมราชจักรีวงศ์ใน พ.ศ. 2475 นั้นควรที่จะสร้าง “ราชานุสาวรีย์ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” โดยมีพระราชวินิจฉัยตามความเหมาะสมว่าควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชใกล้ ๆ สะพาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการสร้างสะพาน ซึ่งสะพานนี้มีชื่อว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” และเมื่อรวมถึงพระบรมรูปด้วยออกนามว่า “ปฐมบรมราชานุสาวรีย์”
พระรูปองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตตยสภา ผู้อำนวยการแผนกศิลปากรในเวลานั้น ทรงออกแบบและอำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2472 ทรงนำแบบร่างพระบรมรูปแบบประทับนั่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ประติมากรชาวอิตาลี ซึ่งรับราชการอยู่ที่ศิลปากรสถาน เป็นผู้ปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมรูปฯ
ในระยะแรกศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เริ่มการปั้นพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ด้วยปูนปลาสเตอร์เพื่อเป็นพระรูปจำลอง โดยมีนายสุข อยู่มั่น ช่างปั้นช่างหล่อผู้ร่วมงานและคอยช่วยงานในการปั้นรูปจำลองพระบรมรูปฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนหน้านี้ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีเคยจำลองพระบรมรูปฯ ขนาดพระองค์จริงด้วยปูนปลาสเตอร์ไว้รูปหนึ่งโดยอาศัยการถอดพิมพ์พระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จากหอพระบิดร ส่วนด้านพระวรกายก็คัดเลือกจากผู้ที่มีร่างกายใหญ่โต ถอดแบบบุคลิกลักษณะของชายไทยที่แข็งแรงมีรูปลักษณ์เป็นนักรบ
นายสุขเล่าต่อไปว่า วันหนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ยังห้องปั้นพระบรมรูปฯ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบบังทูลถวายคำชี้แจ้งอย่างละเอียดครบถ้วน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาใกล้ชิดพระบรมรูปฯ และมีพระราชดำรัสว่า
“ดีมาก เหมือนมาก ช่างเหมือนรัชกาลที่ 1 เสียจริง ๆ”
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว นายสุขจำได้ว่าศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีถึงกับอ้าปากด้วยความประหลาดใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยพบพระพักตร์และพระองค์ที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้อย่างไร แต่ท่านก็ตระหนักดีว่า พระราชดำรัสนั้นคือ “พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยชมเชยและพระราชทานกำลังใจแก่ศิลปินนั่นเอง”
ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้เดินทางไปยังยุโรปเพื่อนำรูปปั้นต้นแบบพระบรมรูปฯ และควบคุมการดำเนินงานการหล่อพระบรมรูปฯ ด้วยสำริดที่โรงหล่อในประเทศอิตาลี ใช้ระยะเวลา 9 เดือนในการหล่อพระบรมรูปฯ ขนาด 3 เท่าของคนจริงจนสำเร็จ และถูกส่งกลับสยามเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อชิ้นส่วนให้สมบูรณ์ ณ กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดธนบุรี โดยงานติดตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ณ ปฐมบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นั้นแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474
6 เมษายน พ.ศ. 2475 วันระลึกมหาจักรีวงศ์
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนครทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 มงคลฤกษ์เวลา 8.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ซึ่งบริษัทดอร์แมน ลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และทรงเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน
โดยลักษณะทางศิลปกรรมของพระบรมรูปฯ นั้นหล่อด้วยทองสำริดทรงเครื่องบรมขัตติยาภรณ์ภูษิตาภรณ์ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ขนาดสูงจากพื้นถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดเหนือพระเพลา มีแท่นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุมเป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่งกึ่งกลางแผ่นหินอ่อน สลักรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หันข้างประทับเหนือแท่นซึ่งเป็นตราปฐมบรมวงศ์จักรี
ความสำเร็จในการปั้นและการควบคุมงานหล่อปฐมบรมราชานุสรณ์ถือให้ปรากฏชื่อประติมากรชาวอิตาเลียน “ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี” รวมอยู่ในรายนามข้าราชการแผนกศิลปากรของราชบัณฑิตยสภาที่ได้รับพระราชทานบำเหน็จเนื่องในการพระราชพิธีฉลองพระนครด้วย โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี
นอกจากผลงานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีผลงานอีกหนึ่งอย่างที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ และมีศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เป็นผู้ปั้นแบบ ได้แก่ เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกโดยใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับในลักษณะเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรที่ริมขอบเหรียญว่า “พระพุทธยอดฟ้า” และ “พระปกเกล้า” ส่วนด้านหลังเป็นลายกลีบบัวล้อมรอบข้อความ “เฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี ๒๓๒๕-๒๔๗๕”
“ศิลป์ พีระศรี” บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย
“ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”
วลีคุ้นหูที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักศึกษาศิลปะ ศิลปินในวงการศิลปะจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวลีดังกล่าวก็เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าทุก ๆ ผลงานที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้สร้างสรรค์ไว้หรือของศิลปินอื่น ๆ นั้นถือเป็นหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ รวมถึงเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในอดีต และช่วยบอกเล่าความเป็นมาและวิวัฒนาการในหลาย ๆ ด้านของช่วงเวลาที่ผ่านมา และอีกหนึ่งความสำเร็จของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีที่มีความสำคัญและเป็นการต่อยอดในด้านการศึกษา คือ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านศิลปะขึ้นในกรมศิลปากร คือ “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ซึ่งต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2486 เป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สร้างความก้าวหน้าด้านการศึกษาศิลปะแบบตะวันตกในประเทศไทย และการอนุรักษ์ศิลปะแบบไทยประเพณี รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นเวทีแสดงผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”
เรียบเรียงโดย
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.
แหล่งอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.
จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ. (2566). 100 ปี เฟโรจีสู่บางกอก. ศิลปวัฒนธรรม, 44(11), 64-82.
ดำรง วงศ์อุปราช.(2521). ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี = professor Silpa Bhirasri. ปาณยา.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). 100 ปี ศิลป์สู่สยาม “ปริ๊นซ์นริส” กับนายเฟโรจี : ศิลปะข้ามวัฒนธรรม. สารคดี, (426), 24-65.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). อนุสาวรีย์ คือ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์. สารคดี, (426), 96-135.
สาระความรู้เพิ่มเติม
- บทความออนไลน์ เรื่อง ปฐมบรมราชานุสรณ์ ราชอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
- บทความออนไลน์ เรื่อง เหรียญที่ระลึกงานเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี พ.ศ. 2475
- นิทรรศการออนไลน์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย