8 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของชาติ คือ วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง (ร.ศ. 112) เวลา 12.25 นาฬิกา ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัยมงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร”
ทูลกระหม่อมเอียดน้อย
พระนามโดยลำลองในรัชกาลที่ 7 ขณะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ บรรดาสมเด็จพระเชษฐาและพระเชษฐภคินี ตลอดทั้งคนในวังและผู้ใกล้ชิด เรียกพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ไม่โปรด ทรงขอให้เปลี่ยนเป็นเรียก “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย”
พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้อง ทรงบอบบางมีพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์ ต่างจากบรรดาพระเชษฐาทุกพระองค์ที่ทรงแข็งแรง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีจึงทรงรักใคร่ห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ทรงถนอมกล่อมเลี้ยงอย่างใกล้ชิด โดยทรงมอบให้อยู่ในความดูแลเอาใจใส่ของเจ้าจอมเยื้อนในรัชกาลที่ 5 เป็นพระอภิบาลพร้อมด้วยเจ้านายชั้นสูงเป็นพระพี่เลี้ยง คือ ท่านหญิง (หม่อมเจ้าหญิง) มนัสสวาสดิ์ และ ท่านหญิง (หม่อมเจ้าหญิง) โพยมมาลย์
ห้วงเวลาก่อนการเสด็จพระราชสมภพของรัชกาลที่ 7
ในช่วงก่อนก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ สยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯ และได้บีบบังคับให้สยามยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส
เหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าว ได้สร้างความกระทบกระเทือนพระทัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระราชโอรส ทั้งที่พระครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ทำให้ทรงมีพระวรกายบอบบางพระพลานามัยไม่แข็งแรง รวมถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชอุตสาหะยิ่งในการสานสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ และในการพัฒนาประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
• ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
• STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). พระบรมราชสมภพ. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/
วุฒิชัย มูลศิลป์. (2551). ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสมภพ. ในรายงานกิจการประจำปี 2550 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (น. 1-8). https://web.parliament.go.th/
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.