พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศให้เป็น “นายร้อยตรีกิตติมศักดิ์” และสวมเครื่องแบบทหารอังกฤษ สังกัด ‘L’ Battery, Royal Horse Artillery ซึ่งในสมัยนั้นตรงกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรโรงเรียนทหารเมืองวูลิซ ประเทศอังกฤษสมเด็จพระเจ้ายอร์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษทรงพระราชทานสัญญาบัตรยศให้เป็น “นายร้อยตรีกิตติมศักดิ์” แห่งกองทัพบกอังกฤษ และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 พระองค์ทรงเสด็จเข้าประจำการในกองทหารปืนใหญ่ม้า เมืองอัลเดอร์ชอต เพื่อทรงศึกษาและฝึกฝนหน้าที่นายทหารตามกำหนดเดิม การเข้าประจำการครั้งนี้มีระยะเวลา 4 ปี โดยที่รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบทหารอังกฤษสังกัด ‘L’ battery, royal horse artillery และถวายพระยศนายร้อยตรีให้ทรงมีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกับนายทหารอังกฤษทุกประการ
สงครามโลก ครั้งที่ 1
ในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี พ.ศ. 2457 อันเนื่องมากจากปัญหาความไม่ลงรอยและความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์หลายประการ อาทิ ความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มไตรภาคีกับกลุ่มประเทศพันธมิตรสองฝ่าย ปัญหาเชื้อชาติและการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิล เฟอร์ดินันด์ มกุฏราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และพระชายา การสังหารทำไปเพื่อแก้แค้นออสเตรีย-ฮังการีที่เข้ายึดครองบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และขัดขวางการรวมชาวสลาฟของเซอร์เบีย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นชนวนเหตุให้ประเทศออสเตรียประกาศสงครามกับประเทศเซอร์เบีย หลังจากประกาศสงคราม ทำให้ประเทศที่เป็นพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายต่างหนุนหลังฝ่ายของตนที่ต่างประกาศสงครามซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่ต้องเข้าร่วมสงครามในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตร และกรมทหารที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงประจำการอยู่ต้องเข้าสู่สงครามตามหน้าที่เช่นกัน พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับเพื่อนทหารชาวอังกฤษ จึงทรงขอร้องสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ให้พระองค์ได้เข้าร่วมแต่ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์ได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลางในสงคราม ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่สมเด็จพระเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงรับราชการประจำกองทหารราบเบาเดอรัมได้เกิดสงครามบัวร์ขึ้น ได้ทรงลงพระนามสมัครจะอาสาไปทัพกับกรมทหารที่ทรงสังกัดอยู่ ทางรัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน
ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พระราชนัดดา ได้ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยพระราชปรารภถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า
“เมื่อพวกเพื่อนนายทหารอังกฤษมาลาจะไปรบและบอกท่านว่าเคราะห์ดีที่ไม่ต้องไปรบ ท่านละอายพระทัยจนไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร”
ในระหว่างที่ไม่สามารถไปร่วมปฏิบัติภารกิจการรบได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ยังทรงศึกษาวิชาทหารได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์จึงยังไม่ควรเสด็จกลับประเทศไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทรงจัดหาครูถวายสมเด็จพระเจ้า เมื่อสงครามยุโรปยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศษได้ทราบทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ เสด็จทอดพระเนตรแนวรบในฝรั่งเศษ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเห็นด้วยประกอบกับมีปัญหาการหาครูมาถวายพระอักษร เนื่องจากเป็นยามสงคราม นายทหารที่มีความสามารถทั้งชาวอังกฤษและฝรั่งเศษจำเป็นต้องไปสงคราม ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เสด็จกลับประเทศไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2458 และมีบรมราชโองการว่า ก่อนเสด็จกลับให้ทรงกราบทูลลาพระเจ้ายอร์ชที่ 5 และโปรดให้ทรงลาออกจากยศนายทหารด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เข้าเฝ้ากราบทูลลาสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 และเสด็จนิวัตถึงประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2458
การเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 ของประเทศไทย
ตลอดเวลา 3 ปี ที่ประเทศไทยซึ่งเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในสงครามโลก ครั้งที่ 1 แต่ด้วยความจำเป็นทางการเมือง และเพื่อเพิ่มโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตย เสรีภาพทางการค้าและการพาณิชย์กับชาติตะวันตกอย่างประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศษ รวมถึงการเปิดทางสู่การยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งของสนธิสัญญาเบาว์ริง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยในการประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี และส่งทหารอาสาเข้าร่วมรบกับกลุ่มสัมพันธมิตร จำนวน 1,284 นาย โดยเดินทางไปร่วมรบที่ประเทศฝรั่งเศษ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ทหารไทยเดินทางไปร่วมรบในต่างแดน
หลังจากสงครามโลก ครั้งที่ 1 ยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี ในที่สุดประเทศเยอรมนี ในฐานะฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ติดต่อขอเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร และได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศษ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ชัยชนะในครั้งนี้ กองทหารอาสาของประเทศไทยได้รับเกียรติเข้าร่วมพิธีสวนสนามเฉลิมฉลองที่ประเทศฝรั่งเศษ ประเทศเบลเยี่ยมและประเทศอังกฤษ และได้เชิญอัฐิของทหารที่เสียชีวิตในราชการสงครามจำนวน 19 นาย กลับสู่ภูมิลำเนา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมแห่งการเสียสละของเหล่าทหารอาสา และได้มีการจัดพิธีวางพวงมาลาในวันที่ 11 พฤศิกายนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็น “วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1”
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
• ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
• STOU Storian Podcast EP.10 พระราชประวัติการศึกษาในรัชกาลที่ 7
เอกสารอ้างอิง
หจก. สตูดิโอ ไดอะล็อก. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). “โรงเรียนในบ้าน” ของพระองค์และโรงเรียนเยาวกุมาร. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/
ส.พลายน้อย. (2538). ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ไทยวัฒนาพานิช
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.