๑๐
สุภาพบุรุษอีตัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม (คะเด็ดสกูล) ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449 ได้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ตามพระราชปณิธานของพระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาและโปรดให้พระราชโอรสทุกพระองค์ได้ทรงศึกษาวิทยาการด้านต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาสยามให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ 

รู้จักวิทยาลัยอีตัน (Eton College

วิทยาลัยอีตันโรงเรียนประจำระดับมัธยมที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของอังกฤษที่ได้รับการยอมรับจากประมุขและกลุ่มคนชั้นสูงทั่วโลก ถือเป็นโรงเรียนชายล้วนที่ดีที่สุดในโลก ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1440 โดยกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 แห่งอังกฤษ ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ บรรยากาศของวิทยาลัยอีตันมีความคล้ายคลึงฮอกวอตส์ (Hogwarts School) ในภาพยนตร์เรื่องแฮรรี่พอตเตอร์ ทั้งเครื่องแบบ และนักเรียนจะอยู่ร่วมกันประจำบ้าน จุดเด่นของวิทยาลัยอีตัน คือ เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ควบคู่กับให้การศึกษาแบบรอบด้านทั้งกีฬา ดนตรี และการละคร รวมถึงการสำคัญในเรื่องของมารยาท ทั้งด้านบุคลิกภาพ การเข้าสังคม และความเป็นสุภาพบุรุษ ทำให้นักเรียนอีตันได้รับการขนานนามว่า “นักเรียนที่ดูดีที่สุด”  

รัชกาลที่ 7 นักเรียนสยามคนแรกของอีตัน 

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2451 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ได้ทรงสอบผ่านเพื่อเข้าศึกษาในวิทยาลัยอีตัน ประทับอยู่ในสำนักหรือคณะ (House) ของนายแฮร์ (Mr. J.H.M. Hare) ระยะแรกทรงปรับพระองค์กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อย่างมาก วิชาที่ทรงเรียน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดนตรี และวรรณคดี ทรงทำคะแนนได้ดีมากในวิชาภาษาฝรั่งเศส

นายเกลีย์ (Mr. Andrew Gailey) อาจารย์ผู้ใหญ่ของอีตัน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระองค์ว่า “ทรงเป็นผู้ฉลาดที่สุดในกลุ่ม และมีความตรงต่อเวลา ทั้งละเอียดถี่ถ้วนและมุ่งมั่นที่จะทรงทำให้สุดความสามารถในทุกสิ่ง การที่ทรงเป็นผู้ที่สนิทใจด้วยง่ายก็สำคัญ บรรดาครูอาจารย์ของพระองค์พอใจตั้งแต่แรกกับเด็กน้อยที่น่ารักและน่าคบพระองค์นี้ และนิยมชมชอบพระอัธยาศัยแจ่มใส และการที่ทรงยืดหยุ่นปรับพระองค์เองได้ แม้ว่าพระวรกายจะย่อมก็ตาม โดยที่เราสัมผัสได้ว่า ทรงชนะศึกต่าง ๆ ของพระองค์ได้ก็โดยการเอาชนะใจคน ด้วยพระเสน่ห์และการดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยแท้”

โรงเรียนมัธยมของอังกฤษ การปกครองอย่างเข้มงวดในเรื่องระเบียบวินัย เด็กนักเรียนรุ่นเล็กเล็กต้องทำหน้าที่เป็นเด็กรับใช้รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า ถือเป็นการฝึกหัดให้รู้จักปกครองเป็นลำดับชั้น ถือเป็นการฝึกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อการผู้บังคับบัญชาที่ดีในอนาคต แม้พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายจากสยาม แต่ทรงปฏิบัติพระองค์แบบเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ

พระองค์เล่าถึงเครื่องแบบนักเรียนอีตันที่มีการสวมหมวกทรงสูงว่า “โรงเรียนอีตันยังใส่หมวกสูงมาจนบัดนี้ ที่หมวกทรงสูงนั้นไม่เป็นของวิเศษอะไร และใส่ก็ไม่สบาย แต่ทำให้เตือนใจให้นักเรียนนึกถึงความเจริญรุ่งเรืองของโรงเรียนที่เป็นมาแล้ว”

นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว ทรงสนพระทัยด้านกีฬา ทั้งทรงว่ายน้ำ โปรดการเล่นกรรเชียงเรือ โดยได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬานักเรียนรุ่นเยาว์ ในตำแหน่งนายท้ายเรือ ทำหน้าที่ถือหางเสือเรือของทีม Novice Eights รวมถึงทรงโปรดกีฬาอื่นๆ ทั้งวอลล์เกม ฟิลด์เกม และคริกเก็ต เพื่อเรียนรู้ถึงความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบประชาธิปไตย

นายจอร์จ ลิตเติ้ลเติ้น (George Lyttleton) พระอาจารย์ที่ปรึกษาผู้มีชื่อเสียงด้านวรรณคดีประพันธ์ เขียนรายงานเกี่ยวกับภาคเรียนสุดท้ายของพระองค์ไว้ว่า “เขาเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่น่าคบมาก เพราะมีบุคลิกที่น่าสนใจไม่น้อย วิสัยสงวนท่าทีของเขาทำให้รู้จักเขาได้ยากกว่าเด็กส่วนใหญ่ หากแต่ว่าเขาดูจะมีความสนใจในสิ่งที่เด็กคนอื่น ๆ ไม่สนใจ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดียิ่ง ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เขาสนใจนั้นไม่ขัดกับสิ่งที่โรงเรียนให้ความสนใจอยู่เป็นธรรมดา ผมหมายถึงรสนิยมเชิงศิลปะที่ดูเหมือนว่าเขาจะมี ซึ่งทำให้ผมชอบคุยกับเขา เขาน่าจะมีอนาคตที่แจ่มใส” ซึ่งพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงอ่านวรรณกรรมน่าจะได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้นี้

ในปี พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตัน ขณะมีพระชนมายุ 17 พรรษา รวมระยะเวลาการศึกษา 2 ปี หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมาทรงร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารเมืองวูลลิช (Royal Military Academy, Woolwich) ใกล้กรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454

แม้พระองค์ทรงจบการศึกษาแล้ว ยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับวิทยาลัยอีตันในฐานะศิษย์เก่า ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 2,000 ปอนด์ ในการปรับปรุงพื้นที่ของวิทยาลัย โดยผู้บริหารได้นำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างสวนแห่งกษัตริย์สยาม (King of Siam’s Garden) เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายพระเกียรติยศ เมื่อ พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เยี่ยมวิทยาลัยอีตันและสวนแห่งนี้อีกครั้ง

สุภาพบุรุษอีตัน

หลังจากทรงจบการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารวูลวิช ได้เสด็จเข้าประจำการในกรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ ณ เมืองอัลเดอร์ชอต (Aldershot) ดำรงตำแหน่งร้อยตรีกิตติมศักดิ์สังกัด “แอล” เบตเตอรี โรยัล เฮ้าส์ อาติเลอรี (‘L’ Battery Royal House Artillery) ซึ่งเหล่าทหารภายในของกรมเรียกพระองค์ว่า “สุภาพบุรุษจากอีตัน” จากภาพลักษณ์ที่พระองค์ทรงมีความละมุนละไมและทรงมีพระอิริยาบถอันนุ่มนวล แต่ถึงแม้ทรงเป็นนายทหารร่างเล็กที่สุดของกรม แต่ทรงมีความแข็งแกร่ง นายทหารรุ่นเดียวกันนับถือพระองค์ในชั้นเชิงการขี่ม้าอย่างสง่าผ่าเผย จนได้รับประกาศนียบัตรและรางวัลชนะเลิศในการขี่ม้า

ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
STOU Storian Podcast EP.10 พระราชประวัติการศึกษาในรัชกาลที่ 7

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). การศึกษาในประเทศอังกฤษ : กับครูและที่วิทยาลัยอีตัน. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น