พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร เมื่อสำเร็จการศึกษาพระองค์ได้รับพระมหากุรณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ในยุคนั้นเรียกว่า “คะเด็ดสกูล” ซึ่งได้รับการพัฒนาจนเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน
ชีวิตวัยเยาว์ในโรงเรียนราชกุมาร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระเยาว์เจริญพระชนมพรรษาได้ 6 พรรษา ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435 บริเวณประตูพิมานชัยศรี ด้านตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจัดการศึกษาอย่างมีระเบียบแบบแผน และเพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับเจ้านาย ได้แก่ สมเด็จพระราชโอรส เป็นต้น โรงเรียนราชกุมารมีจุดเด่นในด้านการแต่งตำราแบบเรียนภาษาอังกฤษถึง 5 เล่ม และมีครูหรือผู้จัดการโรงเรียนคือ นายโรเบิร์ต โมรันต์ เป็นผู้พัฒนาสื่อการสอนที่เรียกว่า “ไปรษณีย์กุมาร” ต่อมาเมื่อสมเด็จพระราชโอรสและเจ้านายเหล่านั้นทรงเจริญพระชันษาขึ้นเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรปจึงยุบเลิกโรงเรียนนี้ไป
ภายหลังเมื่อมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นเล็กทรงพระเจริญวัยสมควรเล่าเรียน สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงประสงค์จัดการศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารอีกครั้ง เพื่อพระราชทานการศึกษาอย่างเป็นระบบแก่สมเด็จพระราชโอรสและเจ้านายรุ่นเล็ก อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ และพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช เป็นต้น ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (2507, น.11-12) ที่พระราชทานแก่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
“…เจ้านายชั้นเล็กอีกชั้นหนึ่งมีชนมายุสมควรกับเวลาที่จะเล่าเรียนได้แล้ว คือลูกฉันอีก 2 คน แลทูลหม่อมมหิดลกับองค์อุรุพงษ์ รวม 4 องค์ด้วยกัน อายุที่อย่างน้อยที่สุด 8 ขวบ ฉันจึงมีใจปราถนาอยากจะให้ได้เล่าเรียนตามสมควรแก่เวลาแลชนมายุของเธอทั้งหลายนั้นเสีย เพราะเวลานี้ก็ต่างองค์ต่างได้เรียนรู้อยู่บ้างแล้วตามอย่างเด็ก ๆ ที่อยู่ว่าง ๆ ดีกว่าจะให้เล่นซนอย่างเด็กอยู่เปล่า ๆ พอเปนทางดำเนินแห่งความรู้ในชั้นต้นเปนเค้าไว้บ้างก็อ่านแลเขียนกันได้ตามประสาเด็ก ๆ ซึ่งได้เริ่มเรียน แต่ต่างครูบาอาจารย์กันแลเปนผู้หญิงสอนกันเองไม่เปนระเบียบเรียบร้อยอันใด”
ด้วยสัญชาตญาณความเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยการศึกษาของพระราชโอรสน้อยอย่างมาก พระองค์ปราถนาให้บุตรของตนได้รับการศึกษา การอบรมจากโรงเรียนและครูที่ดีที่สุด พระองค์ทรงเลือกครูไทยผู้มีความสามารถมาถวายพระอักษรควบคู่กับครูชาวยุโรป อาทิเช่น พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ถวายความรู้ด้านภาษาไทย นายบัว วิเศษกุล นายอาด นายองุ่น กมลยะบุตร และขุนวิทยานุกูลกวี (ทองดี เครือชะเอม) เป็นต้น ในระหว่างที่ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถได้พระราชทานแนวทางการฝึกอบรมพระราชโอรสไว้ว่าไม่ให้ครูตามพระทัยพระราชโอรส และให้เข้มงวดกวดขัน โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นเจ้านาย ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (2507, น.76-77)
“…แลอีก 2 ปี ลูกเอียดน้อยก็จะจากเราไปเป็นแท้แล้ว เพราะมีกำหนด แลเหตุผลที่ทราบได้ ขอคุณจงนึกว่าลูกหลานว่านเครือของคุณเถิด อย่าเกรงใจฤารั้งรอว่าเปนเจ้านายคุณ เมื่อจะเป็นเจ้านายกันก็ต้องให้มีความรู้แลเปนนายบังคับคนได้จริง จึงจำต้องเกรงใจกัน นี่ยังเด็กอยู่ความรู้ความเหนยังไม่พอสารพัด คุณจำต้องกดขี่ฤาสั่งให้ครูผู้ฝึกสอนกดขี่ไปด้วย สิ่งใดที่ควรตามใจ แลเอาใจในเวลาที่ทำดีจึงผ่อนไป หาไม่ว่าจะกำเริบว่าตนเปนเจ้าของคน ฤาของครู จะไม่กลัวเกรง แลฟังบังคับบัญชากัน ฉันเลี้ยงมาไม่เคยตามใจในสิ่งใดที่ไม่จำเปนจนสักครั้งหนึ่งขึ้นไป ฉันท้าให้คุณสืบได้…”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเล็ก ๆ ขึ้น ในราชสำนัก พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนเยาวกุมาร” ให้การศึกษาสำหรับเด็กผู้ชายในพระราชอุปการะและบุตรข้าราชบริพาร เดิมทีใช้พื้นที่บางส่วนของพระราชวังดุสิตเป็นสถานที่ตั้ง ต่อมาย้ายไปอยู่ที่สวนจิตรลดา โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 15-16 คน มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบคล้ายกับ “โรงเรียนในบ้าน” ของพระองค์ ได้แก่ การมีกิจกรรมออกกำลังกายตอนเช้า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และการทัศนศึกษา เป็นต้น นับเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งเพื่อระลึกถึง “โรงเรียนราชกุมาร” ในสมัยที่พระองค์ทรงศึกษาในวัยเยาว์
ปฐมบทโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชกุมารไม่นานพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หรือที่เรียกว่า “คะเด็ดสกูล”
โรงเรียน “คะเด็ดสกูล” เป็นจุดเริ่มต้นวิวัฒนาการกิจการทหารที่มีพัฒนา ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยริเริ่มจากแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงคัดเลือกข้าหลวงเดิม จำนวน 12 คน และใช้ชื่อเรียกว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา” ซึ่งทำหน้าที่ ไล่กาที่บินมาจิกกินข้าวสุกเวลาทรงบาตร และจัดตั้งเป็นบอดี้การ์ดให้รับการฝึกทหารแบบยุโรป ต่อมาได้ฝึกข้าหลวงเดิมสมทบกับทหารมหาดเล็กไล่กา รวมเป็น 24 คน จึงใช้ชื่อเรียกว่า “ทหาร 2 โหล” กิจการทหารได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงได้ขยายใช้ชื่อเรียกว่า “กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” มีหน้าที่ ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรประจำราชการ (เข้าเวร 7 วัน ออกเวร 7 วัน) และปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ 40 ข้อที่ร่างโดย พระยาสุรศักดิ์มนตรี
เมื่อกิจการทหารเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนมากยิ่งขึ้น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสอนทหารบกขึ้น ในระยะแรกมีชื่อว่า “คะเด็ตสกูล” โดยมี นายพันเอกนิคาล วอล์เกอร์ เป็นผู้บังคับการโรงเรียนคนแรก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “คะเด็คสกูล” เป็น “โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม” ตามลำดับ และในปี พ.ศ. 2468 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้รัฐบาลลดงบประมาณประเภทรายจ่ายลง และมีการยุบโรงเรียนหลายแห่งเข้าด้วยกัน รวมถึงการย้ายโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมมารวมเข้ากับโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และให้เรียกชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนนายร้อยทหารบก” ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า”
ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นสถาบันการศึกษาทางทหารระดับอุดมศึกษาในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก กองทัพบก ในอดีตเมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา ซึ่งพิธีพระราชทานกระบี่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และรางวัลการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก นับตั้งแต่นั้นมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานกระบี่ขึ้นเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
• ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
• STOU Storian Podcast EP.10 พระราชประวัติการศึกษาในรัชกาลที่ 7
เอกสารอ้างอิง
หจก. สตูดิโอ ไดอะล็อก. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
(ม.ป.ป.). ประวัติกรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. http://www2.crma.ac.th
ลมล่องข้าวเบา. (15 สิงหาคม 2565). โรงเรียนราชกุมาร ครูโมรันต์และแสตมป์สื่อการสอน. มิวเซียมสยาม. https://www.museumsiam.org
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). “โรงเรียนในบ้าน” ของพระองค์และโรงเรียนเยาวกุมาร. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.