พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน 8 พระองค์ รวมพระองค์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายเป็น 9 พระองค์
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสพระราชธิดาล้วนทรงมี “พระนามโดยลำลอง” ที่ใช้เรียกกันในพระราชสำนัก ดังนี้
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ หรือ “ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่” (พ.ศ. 2421 – 2430) ภายหลังจากสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงนำทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชธิดามาสร้างเป็นถนน เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทิศส่วนกุศล พระราชทานนามว่า “ถนนพาหุรัด”
2. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี หรือ “ทูลกระหม่อมโต” ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2423 – 2468)
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง หรือ “ทูลกระหม่อมกลาง” (พ.ศ. 2424 – 2430)
4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก” (พ.ศ. 2425 – 2463) ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์”
5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดใหญ่” (พ.ศ. 2428 – 2430)
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (พ.ศ. 2430 สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)
7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก” (พ.ศ. 2432 – 2478)
8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย หรือ “ทูลกระหม่อมติ๋ว” (พ.ศ. 2432 – 2478)
9. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” (พ.ศ. 2436 – 2484)
ชีวิตในวัง
ด้วยพระสถานภาพลูกคนเล็กและน้องคนเล็ก ทรงได้รับความเอ็นดูและถนอมเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งจากทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ด้วยพระสถานภาพของพระองค์ทำให้ทรงสามารถศึกษาหาความรู้ตามความสนพระหฤทัยได้โดยไม่ต้องทรงรู้สึกว่าจะต้องทรงรับกรณียกิจหน้าที่ใดเป็นการเฉพาะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงเล่นกับพระเชษฐาพระชันษาใกล้กันทั้งพระมารดาเดียวกันและต่างกัน รวมทั้งหม่อมเจ้าชายหญิงและธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่สมเด็จแม่ทรงพระราชอุปการะเลี้ยงดูไว้หลายพระองค์
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา พระสหายในวัยเยาว์ ซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถมาตั้งแต่ยังเยาว์ เล่าถึงตอนที่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เป็นครั้งแรก เมื่อยังเป็นพระราชกุมารองค์น้อยว่า
“ได้เห็นเด็กน้อยๆ รูปร่างแบบบางผิวขาว ทรงฉลองพระองค์แบบเสื้อกางเกงติดกันอย่างฝรั่งสีขาว ไว้พระเมาฬี (จุก) มีพวงมาลัยสวมรอบ ปักปิ่นพลอยอะไรอยู่กลาง เพชรรอบ มานั่งลงข้างสมเด็จ…ชาววังจะเรียกพระองค์ว่าทูลกระหม่อมเอียดน้อย…สมเด็จรับสั่งด้วยว่า “แม่ได้ข้าหลวงใหม่ พ่อเอียดเอาไปเล่นด้วยไหมจ๊ะ” ทูลกระหม่อมเอียดน้อยทรงยิ้มอ่อนหวาน แต่ไม่ได้รับสั่งตอบว่ากระไร รู้สึกว่าทรงอายหน่อยๆ”
และหม่อมศรีพรหมา เล่าถึงการละเล่นในวังว่า “การเล่นก็เล่นอย่างธรรมดา มีก่อบ้านด้วยไม้ เล่นตุ๊กตาทหาร เล่นหุงข้างแกงด้วยเตาฝรั่ง เล่นตีกลองเป่าแตร แล้วแต่ทูลกระหม่อมจะมีพระประสงค์จะเล่น แต่ที่เล่นสนุกที่สุดก็คือเล่นตี๊ต่างว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยครั้งหนึ่ง พระเชษฐาทรงกำหนดให้พระองค์ทรงเล่นเป็นพระราชาพาพระมเหสีและเจ้าจอมไปประพาสทางเรือ ซึ่งพระองค์ทรงเลียนแบบอากัปกิริยาที่ทรงสังเกตเห็นในชีวิตจริงจากราชประเพณีของพระราชบิดามารดา ทำให้ทรงกระทำหน้าที่การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์สมมุติได้เป็นอย่างดี ทั้งคำพูดและท่าทาง คือพระราชบิดาทรงรับสั่งกับพระราชชนนีฉันใด พระองค์ก็ทรงจำได้ และทรงแสดงได้อย่างใกล้เคียงที่สุด พระราชจริยวัตรการเรียนรู้ด้วยการสังเกตของพระองค์ เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ลูกเสือให้ฝึกสังเกตและหาเหตุผล และคิดแบบวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ การทรงเล่นบทบาทสมมุติเป็นพระราชาลักษณะนี้มีมากกว่าหนึ่งครั้ง และบ่อยครั้งที่พระองค์ไม่ทรงยอมแสดงบทเป็นพระเจ้าอยู่หัวและทรงรับสั่งว่า “ยกให้พี่แดงแล้วกัน” ซึ่งหมายถึง ถวายบทนั้นแก่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยเหตุว่า พระองค์ทรงเป็นน้อง ทรงถ่อมพระองค์และมีความเคารพในผู้ที่มีวัยวุฒิกว่าพระองค์ เป็นพระอุปนิสัยที่มีแต่นั้นมา
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
• ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
• STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. (2550). อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. สารคดี
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.