พระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระนาม “ทรงกรม” 

วัฒนธรรมการไว้ผมของเด็กไทยโบราณคือการไว้จุก ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงนับตั้งแต่พระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ลงมาถึงบุตรธิดาของขุนนาง ตลอดจนบุตรหลานของสามัญชน โดยมีความเชื่อว่าบริเวณกระหม่อมของเด็กมีความบอบบาง จึงต้องเกล้าผมจุกไว้กลางกระหม่อมเพื่อป้องกันอันตรายและช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายหรือโรคภัยต่าง ๆ ออกจากตัวเด็ก เมื่ออายุครบโกนจุก สำหรับเจ้านายผู้หญิงเมื่อครบ 11 ชันษา สำหรับเจ้านายผู้ชายเมื่อครบ 13 ชันษา) ทางครอบครัวของเด็กจะจัดพิธีโกนจุกขึ้นตามแต่ฐานะและความสะดวกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “เด็กกำลังก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่”

พระราชพิธีโกนจุกของพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป เรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์” ส่วนเจ้านายระดับพระเจ้าหลานเธอหรือสมาชิกในราชสกุลวงศ์อื่น ๆ ในพระราชวงศ์ในลำดับชั้นหม่อมเจ้า จะใช้ว่า “เกศากันต์” นิยมจัดงานพิธีในเดือน 4 พร้อมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย) ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ธรรมเนียมการตั้งพิธีโสกันต์พร้อมการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์จึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นการประกอบพิธีร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวายแทน (โล้ชิงช้า)  

พระราชพิธีโสกันต์มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ โดยพิธีสงฆ์จัดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ช่วงบ่ายก่อนวันพระราชพิธีเป็นเวลา 3 วัน รวมทั้งตอนเช้าของวันพระราชพิธี ในระหว่างนี้เจ้านายที่จะโสกันต์จะเสด็จไปฟังสวดโดยกระบวนแห่

4 มีนาคม 2448 พระราชพิธีโสกันต์ในรัชกาลที่ 7

ทรงเครื่องในพระราชพิธีโสกันต์เฉลิมพระสุพรรณบัฎเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม “กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา”

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เมื่อพระชนมายุครบ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช พระเชษฐาต่างมารดา และเป็นธรรมเนียมว่าพระเจ้าลูกเธอ เมื่อโสกันต์แล้วจะเฉลิมพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม หรือเรียกกันว่า “ทรงกรม” เพื่อรับรองว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว

พระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม “ทรงกรม

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม “ทรงกรม” เป็นชื่อเมืองสำคัญในพระราชอาณาจักรตามพระราชนิยมแบบอังกฤษว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติ-ยมหารัชฎาภิสิญจน์ พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา”

ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เขียนเปลี่ยนไปตามที่ปรากฏในประกาศทางราชการว่า “สุโขทัยธรรมราชา” พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัตนโกสินทร์สิ้นสุดลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีพระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา พ.ศ. 2745

ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น