นวัตกรรมการสื่อสารสุขภาพเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า

อาภัสสร อ้นวิเศษและและอุษา บิ้กกิ้นส์. (2566).นวัตกรรมการสื่อสารสุขภาพเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า. วารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม,13(1), 39-56. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/e-jodil/article/view/247513

โรคซึมเศร้า (Depression) คือ โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เป็นภาวะจิตใจแสดงออกถึงความผิดปกติของอารมณ์ เช่น เศร้าไม่มีความสุข เบื่อหน่าย หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง เซื่องซึม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร วิตกกังวล ไม่รื่นเริง หมดหวังในชีวิตเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดได้กับทุกคน ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพประเภทหนึ่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลก พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกช่วงอายุจำนวน 350 ล้านคนทั่วโลก พบบ่อยในวัยทำงานประมาณ 300 ล้านคน และโรคซึมเศร้าทำให้เกิดการสูญเสียและจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย โดยสถิติพบว่ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมง สำหรับในประเทศไทยพบว่า(กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต, 2562) ในปี พ.ศ. 2562 มีอัตราการฆ่าตัวตาย 6 รายต่อแสนประชากรและน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 35-39 ปีพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด

บทความนี้จึงได้นำเสนอผลจากการศึกษารูปแบบ เนื้อหา และวิธีการสื่อสารสุขภาพเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างนวัตกรรมการสื่อสารสุขภาพ โดยสื่อสังคมออนไลน์ มี 5 ประเภท ได้แก่

  • เว็บไซต์ ทั้งหน้าเต็มไปด้วยรูปภาพกราฟิก เน้นความสวยงาม ดึงดูดความสนใจ ภาพบุคคล
  • ยูทูบ แชร์เทคนิคการดูแลสุขภาพ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วยระบบสี เสียง การเคลื่อนไหวแบบวีดิโอ
  • แอปพลิเคชั่น แบ่งออกเป็นแบบใช้ฟรี กับแบบมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการกับความวิตกกังวลและความเครียดของผู้ใช้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัดออนไลน์ใช้งานได้ตลอดเวลา
  • เฟซบุ๊กทั้งในไทยและต่างประเทศพบว่าอาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความวิตกกังวลมากเกินไปจนอาจส่งผลให้เกิดความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตตามมา
  • ทวิตเตอร์ในต่างประเทศพบว่าเป็นพื้นที่สนับสนุนความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เน้นการป้องกันรักษา แต่ในประเทศไทยทวิตเตอร์อาจเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

ซึ่งผลจากการศึกษานี้ ทำให้เกิดแอปพลิเคชั่น LINE ชื่อว่า m-Mental Health ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการสื่อสารสุขภาพประเด็นโรคซึมเศร้าเชิงป้องกันเฝ้าระวัง ฯลฯ

เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรศยา สนองผัน บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ