๒๓
27 มิถุนายน 2475 ริเริ่มประกาศใช้ปฐมรัฐธรรมนูญ 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ปวงชนชาวไทย ชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475”  โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งให้นำออกใช้เป็นการชั่วคราวหลังเกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎรที่ยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

หลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติ ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศตามครรลองของประชาธิปไตย ณ วังศุโขทัย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แกนนำคณะราษฎร 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอพิจารณาไว้ก่อน เนื่องจากทรงเห็นว่าเนื้อหายังไม่ตรงกับความประสงค์และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ แต่เพื่อให้บ้านเมืองดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จึงทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยโดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติว่า “ชั่วคราว” และประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ไว้ว่า1

“…ในหลวงทรงพระกันแสงเมื่อเห็นพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) และตรัสว่า “ตาหุ่น แกรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าฉันจะให้รัฐธรรมนูฐ ทำไมจึงต้องทำให้ฉันอับอายเขาถึงเช่นนี้ พระยาศรีวิสารฯ ก็ร้องไห้ทูลตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้รู้เห็นด้วยเลยจริงๆ” และมีหลายคนที่อายในหลวงจนร้องไห้เหมือนกัน”

ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.2477 พระองค์ได้มีพระราชบันทึกถึงพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ว่า 2

“…รู้สึกทันทีว่าหลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้าไม่พ้องกันเสียแล้ว…ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะพยายามรักษาความสงบไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย” 

สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ (อ่านฉบับเต็ม) มีทั้งหมด 5 หมวด 39 มาตรา สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม มีดังนี้  

  1. มาตราสำคัญที่มอบอำนาจการปกครองสูงสุดในทางหลักการแก่ราษฎร คือ มาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
  1. มีการแบ่งผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ คือ มาตรา 2 บัญญัติว่า “กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล”

  1. สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลได้  
  1. คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา 
  2. ราษฎรมีความเสมอภาคกันในการมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยมาตรา 14 บัญญัติว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใด เมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้…” 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีระยะเวลาในการใช้บังคับรวมทั้งสิ้น 5 เดือน 12 วัน โดยระหว่างนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นและได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

  1. พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2557). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). (พิมพ์ครั้ง 2). มติชน , น.120. ↩︎
  2. พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2560). ประชาธิปกประชาธิปไตย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.128. ↩︎
  1. สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก.
  2. นรนิติ เศรษฐบุตร. 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น