24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มที่ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ คือ “คณะราษฎร์”
ความเป็นมาของคณะราษฎร
เมื่อปี พ.ศ. 2469 ณ กรุงปารีส คณะราษฎร์ได้เริ่มก่อตั้งขบวนการที่จะดำเนินการปฏิวัติขึ้น โดยกลุ่มนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศยุโรปได้สัมผัสกับความเป็นประชาธิปไตยในต่างแดน จึงมีแนวคิดที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยซึ่งมีความล้าหลังทางการปกครองอยู่มากเพื่อให้เจริญทัดเทียมอย่างชาติตะวันตก การนัดประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีสเพื่อรวมตัวกันของผู้เข้าร่วมขบวนการ มี 7 คน คือ
- นายปรีดี พนมยงค์
- ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี
- ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม)
- ร.ท. ทัศนัย มิตรภักดี
- นายแนบ พหลโยธิ
- นายตั้ง ลพานุกรม
- หลวงศิริราช ไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
แนวนโยบายหลัก 6 ประการ และนำแผนการเปลี่ยนแปลงโดยพลันที่เรียกว่า Coup D’etat หรือ รัฐประหาร มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อป้องกันการเข้าแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ แผนดำเนินการครั้งนี้ได้มีการชักชวนผู้ที่ไว้วางใจได้ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มหลายคน ต่อมาปี พ.ศ. 2474 จึงมีกลุ่มนายทหารผู้ใหญ่เข้ามาร่วมขบวนการด้วย ได้แก่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันเอกพระยาทรงสุรเดช(เทพ พันธุมเสน) พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ เอมะสิริ)
เหตุการณ์รัฐประหารได้เริ่มต้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจและจับพระบรมวงศ์มาเป็นตัวประกัน และส่งหลวงศุภชลาสัย เป็นตัวแทนไปทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เสด็จฯ กลับพระนครเพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่สยามประเทศต่อไป เหตุการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจึงผ่านไปโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- รัฐธรรมนูญฉบับแรก: พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
- พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
- 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ “ชั่วคราว” ฉบับแรกของประเทศไทย
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475
ผู้เรียบเรียง
กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.