พิธีพระบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่มีความสำคัญมากในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นสมัยที่การพระราชพิธีและพระราชกุศลต่าง ๆ ตามราชประเพณีโบราณยังคงปฏิบัติอยู่ ซึ่งจัดว่าเป็น “จารีตประเพณี” ในราชสำนัก แต่ในขณะเดียวกันในรัชสมัยนี้ก็เริ่มมี “วิถีใหม่” เกิดขึ้นในบริบทงานพระราชพิธีเพื่อให้พระราชพิธีบางพิธีเหมาะสมแก่กาลสมัยและเน้นบทบาทสำคัญในฐานะองค์อัครมเหสี รวมทั้งเป็นการยืนยันพระราชสถานะ “พระราชาและพระราชินี” นั่นก็คือ “พิธีการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี”
สถาปนา “สมเด็จพระบรมราชินี” ครั้งแรกในสยาม
พระราชพิธีในช่วงบ่ายของวันบรมราชาภิเษก วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 เป็นพิธีส่วนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นพิธีสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เป็น “สมเด็จพระบรมราชินี”
ถ้ามองย้อนกลับไปนั้น “การสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี” หรือ พระอัครมเหสีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี” เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” ในปี พ.ศ. 2450 โดยครั้งนั้นมิได้สถาปนาในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งน่าจะเป็นวัตถุประสงค์เป็นการสถาปนาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มากกว่าการสถาปนาสมเด็จพระมเหสี (ดินาร์ 2550: 8-9)
จึงมีข้อสันนิษฐานว่า การสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งในพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์และอิงกับความเชื่อทางศาสนา คือ การถวายเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์บนพระวรกายของประมุขพระองค์ใหม่ คือ บนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (อก) และพระหัตถ์ทั้งสองข้าง เป็นการอัญเชิญให้พระเจ้าและอำนาจเทวสิทธิ์ของพระองค์มาสถิตอยู่กับกษัตริย์พระองค์นี้ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นที่ทราบกันดี คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยประทับอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลานาน จึงมีพระราชประสงค์นำพิธีดังกล่าวมาประยุกต์ให้เข้ากับราชประเพณีสยาม คือ การสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายด้วยการพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิมที่พระนลาฏ
ลำดับพิธีการสถาปนา “สมเด็จพระบรมราชินี”
หลังจากเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวังแล้ว ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เช่นเมื่อทรงบรมราชาภิเษก ทรงพระชฎามหากฐิน ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ องค์กลางของพระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นท้องพระโรงฝ่ายใน (สตรี) ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งไพศาลฯ ซึ่งในช่วงเช้าประทับทรงรับการเฉลิมพระปรมาภิไธยและเครื่องราชกกุธภัณฑ์
การสถาปนา “สมเด็จพระบรมราชินี” เป็นธรรมเนียมใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ โดยให้ทอดพระอาสน์สำหรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ไว้เบื้องซ้ายพระราชบัลลังก์ เพื่อประทับเป็นต่างหากจากพระราชวงศ์ทั้งหลาย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการความบางตอนนั้นว่า
“หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีได้ทรงดำรงพระยศเป็นพระชายามาจนบัดนี้และทรงศักดิ์เป็นอุภโตสุชาติขัตติยนารี สมควรจะสถาปนาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ตามโบราณราชประเพณีได้ประการ 1”
(อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 39-ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
“และอีกประการ 1 ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมา ได้ทรงประจักษ์แจ้งความซื่อตรงของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอันมีต่อพระองค์ ได้ตั้งพระหฤทัยสนองพระเดชพระคุณทั้งปฏิบัติวัฏฐานในเวลาเมื่อทรงเป็นสุขสำราญและรักษาพยาบาลในเวลาเมื่อทรงประชวร ควรนับได้ว่าได้เคยเป็นคู่ร่วมทุกข์สุขกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นนิรันดร จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เถลิงถวัลราชสมบัติก็สมควรที่จะทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีขึ้นเป็นสมเด็จพระมเหษี เพราะความชอบความดีซึ่งได้มีต่อพระองค์มาแต่หนหลังด้วยอีกสถาน 1”
(อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 39-ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
กระแสพระราชดำริทั้งนี้ได้ทรงปรึกษาพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ก็ทรงยินดีเห็นชอบพร้อมดังกับพระราชบริการ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาถ ดำรัสสั่งให้ประการเฉลิมพระนามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และให้เกียรติยศเป็นพระอัครมเหษีสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฏหมายและพระราชประเพณี จงทุกประการ (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 39-ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
จบแล้วสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระทิอารา (tiara) มงกุฎกระบังหน้าแบบของเจ้านายตะวันตก แม้ว่าจะทรงพระภูษา (ผ้าซิ่น) จีนแบบไทยและฉลองพระองค์แบบไทยประยุกต์มีผ้าทรงสะพักยาวเป็นพิเศษห้อยไปเบื้องหลังพระองค์
เมื่อประกาศจบแล้วนั้น หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายา เสด็จพระราชอาสน์ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏแล้วทรงเจิมที่พระนลาฏ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์กับเครื่องอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์อันเป็นโบราณมงคล อีกทั้งเครื่องราชูปโภคสำหรับตำแหน่งพระอัครมเหสีด้วย แล้วสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จกลับไปประทับพระราชอาสน์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา (กรมหลวงทิพยรัตน์กิริฎกุลินี) ผู้ทรงกำกับราชการฝ่ายใน กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในนามสตรีสันนิบาต คำกราบถวายบังคมทูลนั้น มีความตอนหนึ่งว่า
“อนึ่ง ในวาระนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ที่พระอัครมเหษี ยิ่งทวีความชื่นชมโสมนัสแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นที่สมหมายในการที่มาได้ประมุขแห่งเหล่าสตรีไทยในพระองค์ผู้ทรงสุนทรลักษณ์งามทั้งพระโฉม พระมรรยาท พระเกียรติและพระคุณเป็นอดุลยรัตนขัติราชนาวี ควรเป็นที่เคารพอภิวันทนา จักเป็นศรีสง่า ปรากฏไปทั่วด้าวเมธนีดล”
(ราชกิจจานุเบกษาพิเศษ 2468: 61 – ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
นับเป็นประจักษ์พยานว่าเจ้านายฝ่ายในทั้งปวงยินดีมีความนิยมในพระอุปนิสัยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และทรงพร้อมที่จะถวายความเคารพในฐานะที่ทรงเป็นเอกในบรรดาเจ้านายฝ่ายใน เป็นศรีสง่าไปทั่วแผ่นดิน
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยูหัวพระราชทานพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า
“ยิ่งได้ฟังคำยกย่องชมเชยสมเด็จพระบรมราชินี ยิ่งเพิ่มพูนความปิติยินดีขึ้นเป็นอันมาก เพราะเป็นที่ตระหนักแน่แก่ใจของเรา ว่าในการที่ได้สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหษีนั้น เป็นที่ต้องใจของท่านทั้งหลายทั่วกัน”
(ราชกิจจานุเบกษา 2468: 63 – ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
แล้วเสด็จจากพระที่นั่งภัทรบิฐ สมเด็จพระบรมราชินีทรงประคองขันบรรจุดอกพิกุลทองพิกุลเงิน ถวายให้ทรงโปรยพระราชทานพระราชวงศ์และข้าทูลละออธุลีพระบาทฝ่ายในเก็บเป็นที่ระลึก
วิถีใหม่ราชประเพณี “พระราชาและพระราชินี”
นอกจากพระราชพิธีการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ที่มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมแก่กาลสมัยเพื่อเน้นบทบาทสำคัญในฐานะองค์อัครมเหสีแล้ว ยังมีการพระราชพิธีที่ปรับเปลี่ยนตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้แก่ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับคู่กัน ยืนยันพระราชสถานะ “พระราชาและพระราชินี” อันเป็นแนวคิดการครองคู่แบบสากล มิใช่การเฉลิมพระราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวเช่นในสมัยอดีต
รวมทั้งการเสด็จออกมหาสมาคมคู่กัน ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเพื่อให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคลอนุโลมตามราชประเพณีที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำในราชสำนักของประเทศในทวีปยุโรป เป็นโอกาสที่ราษฎรจะได้ชมพระบารมีองค์พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีพร้อมกัน ซึ่งกลายมาเป็นราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบมาในรัชกาลปัจจุบัน
โดยสรุปแล้วการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับรูปแบบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเช่นนี้ จึงเป็นไปตามที่ทรงแสดงพระคติในการทรงครองแผ่นดินที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำของพระองค์ สำหรับหนังสือพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2470 มีความว่า
“ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน”
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- 25 กุมภาพันธ์ 2468 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
- นิทรรศการออนไลน์ เรื่อง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7
อ้างอิง
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., (2559). รายงานวิจัยการสังเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า.
พัทธดลย์ กิจชัยนุกูล (2566). The British Coronation: รวมเรื่องน่ารู้ในพิธีสถาปนา King Charles III และสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกของอังกฤษในศตวรรษที่ 21. https://readthecloud.co/king-charles-iii-coronation
หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2547). พระปกเกล้า-รำไพพรรณี : พระคู่ขวัญแผ่นดินสยาม. หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ผู้เรียบเรียง
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.