มสธ. ขับเคลื่อน SDGs สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ถูกกำหนดขึ้นและได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยมีระยะเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมายภายใน 15 ปี ที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ในบางโอกาส SDGs จะถูกเรียกชื่อว่า “Agenda 2030 หรือ Global Goals” SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) ประกอบด้วยเป้าหมายย่อย (Targets) จำนวน 169 เป้าหมายย่อย และมีตัวชี้วัด (Indicators) จำนวน 232 ตัวชี้วัด ทั้ง 17 เป้าหมายประกอบด้วยมิติความยั่งยืน 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านสังคม (People) มิติด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติด้านสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ทั้ง 5 มิติจะครอบคลุมเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย

หลักการสำคัญของ SDGs คือ การทำงานโดยคิดถึงมนุษยชาติ การพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบบูรณาการสำหรับคนทุกกลุ่ม ยุติความยากจน ปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง หลักการดำเนินงานอยู่ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 รัฐบาลไทยกับสหประชาชาติได้ร่วมกันลงนามกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNSDCF) วาระปี 2565 – 2569 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือและดำเนินการขับเคลื่อนตามหลักการของ SDGs โดยการเลือกเป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมายที่หน่วยงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมและเกี่ยวข้องกับลักษณะหรือประเภทหน่วยงานของตนเอง

มสธ. ขับเคลื่อน SDGs ด้วย 4 เป้าหมาย

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่จัดการเรียนการสอนในระบบทางไกล รับนักศึกษาและผู้เรียนแบบไม่จำกัด สามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเองผ่านสื่อการศึกษาที่หลากหลายและทันสมัยในลักษณะเป็นการศึกษาตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มสธ. ได้พิจารณาเลือกเป้าหมายของ SDGs จำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 (SDG4): การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 6 (SDG6): การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 7 (SDG7): พลังงานที่สะอาดในราคาย่อมเยา และเป้าหมายที่ 17 (SDG17): ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้ง 4 เป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและแนวนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน อาทิ นโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง  4 เป้าหมาย ตามแนวทางดังนี้

1. SDG4: การศึกษาที่มีคุณภาพ

โดยการสนับสนุนและส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน อาทิ ผลิตผลงานวิจัย/ตีพิมพ์เผยแพร่และให้ได้รับการอ้างอิงให้มากขึ้น พัฒนาหลักสูตรเชิงนวัตกรรมและสอดคล้องกับตลาดแรงงานเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ จัดอบรมระยะสั้นเชิงบูรณาการตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อขยายผลนำไปสู่การเปิดชุดวิชาหรือหลักสูตรใหม่ หรือต่อยอดพัฒนาเป็นหนังสือ ตำราและงานวิจัย

2. SDG6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ในมหาวิทยาลัย จัดทำแผนการจัดการควบคุมและพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ควบคุมมลพิษทางน้ำในมหาวิทยาลัย รวมถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดน้ำตามอายุการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ บริหารจัดการขยะและสารเคมีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รณรงค์สร้างความตระหนักให้กับบุคลากร นักศึกษาและบุคคลภายนอกคัดแยกขยะตามจุดที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่ทิ้งขยะและสารเคมีลงในน้ำ ลดการใช้พลาสติกหรือนำกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานสารบรรณจากสำเนาเอกสารเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

3. SDG7: พลังงานที่สะอาดในราคาย่อมเยา

โดยการส่งเสริมให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงานและน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นแบบประหยัดพลังงาน บำรุงรักษาและเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าตามอายุการใช้งาน จัดหาพลังงานทดแทน ปรับปรุงอาคารของมหาวิทยาลัยให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน สร้างความตระหนักให้กับบุคลากร นักศึกษาและบุคคลภายนอกในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า

4. SDG17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรทางสังคมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การทำวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างองค์กร จัดโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในจังหวัดนนทบุรี หรือจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยบริการและชุมชน (ศวช.) ทั่วประเทศ

โครงการ/กิจกรรมของ มสธ. ในการขับเคลื่อน SDGs

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง  4 เป้าหมายในรูปแบบการจัดโครงการ/กิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อาทิ

โครงการในการขับเคลื่อน SDGs ของ มสธ.
  • การผลิตรายวิชาใหม่ในระบบโมดูลการสอนทางไกล
  • หลักสูตรการพัฒนาทักษะความพร้อมด้านดิจิทัลแก่บุคลากรภายในและผู้สนใจภายนอก
  • โครงการพัฒนาอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก
  • การก่อสร้างอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.
  • การสร้างสถานีบำบัดน้ำเสีย
  • โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก
  • รณรงค์การสัญจรภายในมหาวิทยาลัยด้วยการเดินและการใช้จักรยานแทนการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
  • จัดหาพลังงานทดแทนในรูปแบบแผงโซล่าเซล
  • สร้างเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
  • สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเปิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OU5)

อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานของมสธ. เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ครอบคลุมทุกมิติความยั่งยืนที่ตั้งเป้าไว้ โดยได้วางแนวนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยตามภารกิจหลักทั้ง 5 ด้านประกอบด้วย ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านบริการวิชาการแก่สังคม ด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและด้านพัฒนาองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital University และยกระดับการพัฒนา มสธ. สู่ความเป็นเลิศ ตามเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ อาทิ EdPEX/TQA, AUN QA, U-Multi Rank, UI-Green และ Benchmarking ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนที่สามารถตอบตัวชี้วัดที่เป็น Impack Ranking (SDGs) ของมหาวิทยาลัยและส่งผลสัมฤทธิ์ให้ประเทศชาติเกิดความรุ่งเรือง มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดไป  

เรียบเรียงโดย    

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ 

เอกสารอ้างอิง:  

  1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2566). รายงานการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566. เรื่อง ร่างแนวนโยบายการพัฒนา มสธ. ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567.
  2. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กองแผนงาน. (2566). แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ตุลาคม 2566 ถึงกันยายน 2567).
  3. https://sdgs.rmutr.ac.th/web/wp-content/uploads/2023/12/impact-rankings.pdf