ริเริ่มมี
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 สำนักบรรณสารสนเทศ ได้รับการยกฐานะจากหน่วยงานระดับศูนย์ เป็นหน่วยงานระดับสำนัก ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักบรรณสารสนเทศ และสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2529 ซึ่งมีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งว่า “เนื่องจากศูนย์บรรณสารสนเทศ ในสำนักเทคโนโลยีการศึกษา ได้ขยายงานด้านบริการห้องสมุดและสื่อการศึกษาในระบบการสอนทางไกลมากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น เพื่อให้การบริหารงานเป็นอิสระและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรยกฐานะศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา โดยจัดตั้งขึ้นเป็นสำนักบรรณสารสนเทศ…”
แนวคิดก้าวหน้า
ด้วยจุดเด่นของการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลในการจัดการศึกษาแบบไม่มีชั้นเรียน และมีนักศึกษาอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นแนวคิดของระบบการให้บริการของห้องสมุด จึงแตกต่างจากมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยเน้นการจัดบริการให้ใกล้ตัวผู้ใช้ให้มากที่สุด ทำให้เกิดการบริการในรูปแบบระบบเครือข่าย 3 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง ณ ที่ทำการมหาวิทยาลัย, ระดับภาค ให้บริการ ณ ศูนย์วิทยพัฒนา และศูนย์วิทยบริการบัณฑิตศึกษา และระดับจังหวัด ในรูปแบบศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ.
พัฒนาการก้าวไกล
พัฒนาการของสำนักบรรณสารสนเทศมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านโครงสร้างการบริหารงาน ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านความร่วมมือ ทั้งนี้เพื่อมุ่งบริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการทุกระดับ พัฒนาการดังกล่าวสรุปในเบื้องต้น ดังนี้
- พ.ศ.2522 จัดตั้งศูนย์บรรณสารสนเทศ ภายในสังกัดสำนักเทคโนโลยีการศึกษา โดยให้บริการห้องสมุด ณ ชั้น 6 บริษัท เดินอากาศไทย ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นที่ทำการชั่วคราวของ มสธ.
- พ.ศ.2523 ย้ายที่ทำการไปยังชั้น 12 อาคารทบวงมหาวิทยาลัย ถนนศรีอยุธยา เน้นให้บริการยืมหนังสือและเอกสารไปใช้ที่บ้าน เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่ และได้จัดตั้งเครือข่ายบริการห้องสมุดในส่วนภูมิภาคร่วมกับวิทยาลัยครู 36 แห่ง ทั่วประเทศ
- พ.ศ.2524 ย้ายที่ทำการไปยังชั้น 5 อาคารสิริภิญโญ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทำการมหาวิทยาลัยชั่วคราว มสธ. 3 นอกจากนี้ มีการปรับเปลี่ยนเครือข่ายบริการห้องสมุดส่วนภูมิภาค มาอยู่ที่ห้องสมุดประชาชนในทุกจังหวัด โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ.”
- พ.ศ.2527 ห้องสมุดย้ายเข้าสู่ที่ทำการถาวรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ณ อาคารบรรณสาร จ.นนทบุรี
- พ.ศ.2528 จัดตั้งมุม มสธ. ในเรือนจำเป็นครั้งแรก ที่เรือนจำกลางบางขวาง
- พ.ศ.2529 ได้รับการยกฐานะเป็น สำนักบรรณสารสนเทศ โดยมีรองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
- พ.ศ.2535 ขยายพื้นที่ทำการและบริการห้องสมุดมายัง อาคารวิชาการ 1 ชั้น 2, 3 และ 4
- พ.ศ.2537 นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS เข้ามาใช้ในการดำเนินงานห้องสมุดและให้บริการ
- พ.ศ.2538 จัดตั้งห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอนู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
- พ.ศ.2548 เข้าร่วมเป็นสมาชิกข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยภูมิภาค (PULINET) พร้อมทั้งเปิดให้บริการนิทรรศการออนไลน์ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ในยุคดิจิตอล
- พ.ศ.2561 เปลี่ยนระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS เป็นระบบ MATRIX
- พ.ศ.2563 อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งจะเป็นอาคารที่ทำการห้องสมุดแห่งใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในพ.ศ. 2565
ปัจจุบันสำนักบรรณสารสนเทศ ยังคงทำหน้าที่จัดบริการทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่อาจารย์ บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป รวมถึงการให้บริการสารสนเทศอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ สารสนเทศสุโขทัยศึกษา สารสนเทศเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สารสนเทศการศึกษาทางไกล สารสนเทศจดหมายหมายเหตุมหาวิทยาลัย และสารสนเทศนนทบุรีศึกษา
สนใจศึกษาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย
02-504-7467-68