บันทึกประวัติศาสตร์ไทยพระราชประเพณีกระบวนพยุหยาตราชลมารค

เนื่องในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ห้องสมุด มสธ. ได้นำภาพเก่าหาชมได้ยาก สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2468 มาให้ได้รับชม

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นพระราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานีตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และมักจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเรือพระราชพิธี การจัดกระบวนเรือ รวมทั้งการแต่งกายจึงต้องมีแบบแผนที่งดงามอลังการสมพระเกียรติยศองค์พระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำทรงผ่านเรือพลับพลาอเนกชาติภุชงค์ ขึ้นท่าหน้าวัดอรุณราชวราราม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำทรงผ่านเรือพลับพลาอเนกชาติภุชงค์ ขึ้นท่าหน้าวัดอรุณราชวราราม

การเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ใกล้เคียงกับยุคสมัยปัจจุบันมากที่สุด คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดอรุณราชวราราม และจัดกระบวนตามแบบโบราณราชประเพณี โดยประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์ เรือพระราชพิธีที่เข้ากระบวนเสด็จฯ เป็นเรือที่สืบมาจากโบราณกาล เรือพระที่นั่งทรงคือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งรองคือเรืออนันตนาคราช และเรือทวยเทพถวายกร นอกจากนี้ยังมีเรือสำคัญคือเรืออเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพลับพลา เรือประภัศรชัย เป็นเรือทรงบุษบก เรือเอกชัยเหินหาวและเรือเอกชัยหลาวทอง เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพ ครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จและครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรปักษีและเรืออสุรวายุภักษ์ เรือกระบี่รานรอนราพณ์และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เรือดั้ง เรือกราบ เรือพิฆาต เรือแซ นอกจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วยังมีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี อีกด้วย

ภาพจากหนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพจากหนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 9 เรือพระราชพิธีและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคก็ยังคงได้รับการสืบทอดเป็นมรดกและพระราชประเพณีอันทรงคุณค่า แต่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม เช่น ในสงครามโลกครั้งที่สอง อู่เรือพระราชพิธีถูกระเบิดเสียหาย เรือหลายลำจึงชำรุด บางลำมีการซ่อมแซม บางลำได้รับการก่อสร้างใหม่ แต่บางลำไม่สามารถสร้างใหม่ได้ ในปี 2539 อันเป็นปีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก กองทัพเรือได้สร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่คือเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 โดยใช้แบบเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณในรัชกาลที่ 3 และ 4 เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราชลมารคคือมรดกวัฒนธรรมของราชธานีโบราณกลางสายน้ำแห่งสุวรรณภูมิที่คงจะไม่ลบเลือนหายไปตามกาลเวลาหากอนุชนรุ่นหลังจะช่วยกันรักษาสืบทอดต่อไป

ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องเรือพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมถึงปัจจุบัน และเรื่องกระบวนพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถหาความรู้ได้จากหนังสือ และเอกสารจดหมายเหตุ ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ดังนี้

  1. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (DS584 จ38 2537)
  2. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ (DS578 ป463 2550)
  3. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468. (2492). (คลังสารสนเทศดิจิทัล พระปกเกล้าศึกษา)
  4. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคปลาย (DS584 จ38 2537)
  5. รายการละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร (พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) แล เสดจเลียบพระนคร พระพุทธศักราช 2468(DS584 ร64 2558)
  6. ราชกิจจานุเบกษาพิเศษกรุงเทพมหานครในพระบรมมหาราชวัง (คลังสารสนเทศดิจิทัล พระปกเกล้าศึกษา)