มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้กำหนดทิศทางของตนเองในอนาคต ภายใต้ศักยภาพและผลการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้ในรูปแบบ “มหาวิทยาลัยเปิดที่จัดระบบการเรียนการสอนทางไกลสมบูรณ์แบบ” โดยมีแผนพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาของ มสธ. ให้สอดคล้องกับแผนในระดับประเทศและแผนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) แผนยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา ระยะ 20 ปี แผนพัฒนา มสธ. ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) แผนปฏิรูป มสธ พ.ศ. 2561 และแผนพัฒนาความเป็นเลิศของ มสธ. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570)
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ดำเนินการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สะดวก ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาและผู้เรียนในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ซึ่งจากผลการดำเนินงานยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเหตุปัจจัยที่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางเลือกด้านการศึกษา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย หรือโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Value-based Economy และแก้ไขปัญหาหลักในระบบอุดมศึกษา โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการและหลักธรรมาภิบาลในอุดมศึกษา ทั้งนี้เพื่อยกระดับอุดมศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ตามศักยภาพของสถาบัน และสร้างกลุ่มประเภทของสถาบันสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถเทียบเคียงได้ในระดับสากล
จากรายงานผลการศึกษาเรื่อง ประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มองแนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคต 20 ปี ข้างหน้า ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในด้านที่สำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก คุณภาพบัณฑิต การสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับบทบาทมหาวิทยาลัยเปิด การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างผลถึงการปรับหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้
แผนพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาของ มสธ.
ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา จึงได้จัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยและจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พร้อมกับมอบนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดจัดทำแผนพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา แผนการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ หรือแผนพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาด้านอื่นให้สอดคล้องกับกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เลือกไว้ตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3) กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4) กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 5) กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ และ 6) กลุ่มอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ทั้งนี้จากการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของ มสธ. ตามกฎกระทรวงฯ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชไม่ได้เลือกสังกัดกลุ่มใด แต่ตัดสินใจเลือกดำเนินการตามข้อ 19 ของกฎกระทรวงฯ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้พัฒนาตนเองตามบทบัญญัติในส่วนท้ายของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ พ.ศ. 2521 และกำหนดทิศทางของตนเองในอนาคต ภายใต้ศักยภาพและผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้ในรูปแบบความเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่จัดระบบการเรียนการสอนทางไกลสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามในการจัดทำแผนพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาของ มสธ. มีหลักการและแนวคิดในการดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนในระดับประเทศและแผนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) แผนยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา ระยะ 20 ปี แผนพัฒนา มสธ. ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) แผนปฏิรูป มสธ พ.ศ. 2561 และแผนพัฒนาความเป็นเลิศของ มสธ. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570)
มหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายของแผนพัฒนาความเป็นเลิศของ มสธ. ไว้ 5 ด้าน ได้แก่
- การขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต (Education for all by ODL)
- Digital University
- ผลิตบัณฑิตการวิจัย นวัตกรรมและการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาประเทศ
- สร้าง Digital Content ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
- เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในระดับประเทศและนานาชาติ
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาความเป็นเลิศของ มสธ. ระยะ 5 ปี มีดังนี้
- ประชาชนคนไทยได้รับการขยายโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้นโดยใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ
- ก้าวสู่การเป็น Digital University ที่มีระบบนิเวศที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
- บุคลากรมีคุณภาพมาตรฐานการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางไกลเทียบเคียงในระดับสากล ทำให้ชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษาได้รับการยอมรับในระดับสากล
- ผลงานวิจัยนวัตกรรมและการบริการวิชาการแก่สังคมตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
- เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในระดับประเทศและนานาชาติสู่การพัฒนาการศึกษาในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายหรือทิศทางของการพัฒนาสังคมชุมชนและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
แผนพัฒนาความเป็นเลิศของ มสธ. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570)
แผนพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
เรียบเรียงโดย
วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 8/2564 วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เรื่องการเลือกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและ (ร่าง) แผนพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาแผนการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ และแผนพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาด้านอื่น ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของ มสธ.
ภาพอนาคตการศึกษาไทยใน 20 ปี ข้างหน้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช http://eservice.stou.ac.th/main/data/stou_next_20.pdf