ทรงพระผนวช 

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย เมืองวูลิช ประเทศอังกฤษแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2458 ได้เสด็จกลับถึงประเทศไทยและทรงเข้ารับราชการทหาร 

ต่อมา พ.ศ. 2460 ทรงลาราชการเพื่อทรงพระผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอาจารย์ถวายธรรมวินัย

พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร

พระสมณฉายา “ปชาธิโป”

เมื่อทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุได้เสด็จประทับจำพรรษาที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “ปชาธิโป” ทรงศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเอาพระทัยใส่จนทรงสอบผ่านประโยคนักธรรมชั้นตรีทรงเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนเป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระอุปัชฌาย์เป็นอย่างมาก ถึงกับทรงพระปรารภว่า “ควรจะทรงผนวชอยู่ตลอดไปเพื่อเป็นใหญ่ปกครองสังฆมณฑล เพราะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์สุดท้าย คงจะไม่ได้เสด็จเถลิงราชสมบัติ” แต่พระองค์ทรงปฏิเสธเพราะทรงมีความรักแล้วกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัตนวิศิษฏ์

ขณะที่ทรงผนวชทรงศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเอาพระทัยใส่จนทรงสอบผ่านประโยคนักธรรมชั้นตรี และทรงศึกษาหลักธรรมสำหรับภิกษุสามเณรโดยวิธีเรียงความแก้กระทู้ธรรม และนำมาอ่านในที่ประชุมกรรมการ มีทั้งหมด 5 หัวข้อ คือ 1) คนผู้ได้รับฝึกหัดแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ 2) โลกอันเมตตาค้ำจุนไว้ 3) ส่วนปัญญาย่อมปกครองเขา 4) ความรู้จักพอดียังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ และ 5) ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เรื่องที่ทรงได้รับรางวัลจากคณะกรรมการซึ่งมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน คือ “คนผู้ได้รับฝึกหัดแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์” 2) “โลกอันเมตตาค้ำจุนไว้” และ “ความรู้จักพอดียังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ” 

เมื่อทรงจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารจนครบ 1 พรรษา ได้มีพิธีฉลองและทรงลาสิกขา เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2460 และเสด็จกลับเข้ารับราชการทหารตามเดิม 

ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดบวรนิเวศวิหาร. (2528). การทรงผนวชแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พุทธมามกะและนาคหลวง. มหามงกุฏราชวิทยาลัย
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน