ตราศักดิเดชน์ เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงใช้เป็นการส่วนพระองค์ตั้งแต่ก่อนทรงครองราชสมบัติิ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ลักษณะเป็นตรารูปโล่ขนาดใหญ่ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง คือ ครึ่งบน 2 ช่อง ครึ่งล่าง 1 ช่อง โดยรูปสัญลักษณ์ที่ปรากฎบนตราศักดิเดชน์ มีความหมาย ดังนี้
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ (วันพระราชสมภพตรงกับวันพุธ) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันพระราชสมภพกับวันอังคาร) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีสีเหลืองเป็นสีประจำ”
- ครึ่งบนของตราด้านซ้าย เป็นเครื่องหมายของพระบรมราชวงศ์จักรี คือ รูป “จักร” กับ “ตรี” บนพื้นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำบรมราชวงศ์
- ครึ่งบนของตราด้านขวา เป็นรูปพระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฎ เครื่องหมายประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บนพื้นชมพู ซึ่งเป็นสีของวันอังคาร วันพระบรมราชสมภพของพระองค์
หมายเหตุ: ส่วนครึ่งบนของตรานั้น พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ประกอบเป็นตราประจำพระองค์ โดยการนำเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ประจำของแต่ละพระองค์ ประกอบเข้าเป็นครึ่งล่างของตรา
- ครึ่งล่างของตราศักดิเดชน์ เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ บนพื้นสีเขียว เป็นสีของวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ
สัญลักษณ์ “ศร” ซึ่งมาจากความหมายของคำสุดท้ายของพระนาม “ประชาธิปศักดิเดชน์”
“เดชน์” หมายถึง ลูกศร ดังนั้น “ศักดิเดชน์” จึงหมายถึง ผู้ทรงศร หรือ ผู้ทรงอำนาจด้วยศร
ซึ่งความหมายรับกันอย่างเหมาะสมกับการที่ได้ทรงพระราชสมภพมาในพระบรมราชวงศ์จักรี ด้วยสัญลักษณ์ของพระบรมราชวงศ์จักรี คือ จักรกับตรี เป็นหนึ่งในอาวุธประจำองค์ของพระนารายณ์เทพเจ้าแห่งศาสนาพราหมณ์ และเชื่อกันว่าเมื่อพระนารายณ์ได้เสด็จอวตารมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์ มีปางหนึ่งได้อวตารมาบังเกิดเป็นพระราม ผู้มีศร 3 องค์ เป็นราชศาสตราวุธประจำพระองค์ อันได้แก่ พระแสงศรพรหมมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต (พลายวาด) และพระแสงศรอัคนีวาต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ตราศักดิเดชน์กับสิ่งของส่วนพระองค์ อาทิ เรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ เรือศรศักดิ์ เรือศรวรุณ และเรือสามศร ที่มีตราพระแสงศร 3 องค์ อยู่ด้านข้างลำเรือ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เครื่องหมายสามศร ประกอบเข้ากับสิ่งอื่น เพื่อเป็นเครื่องประดับสำหรับพระราชทานในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ดังนี้
1. แหนบประดับกระเป๋าเสื้อราชประแตน เป็นรูปพระแสงศรหนึ่งองค์ กับพระนามย่อ “ปศ.” ประกอบกันบนพื้นสีเขียว พระราชทานตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ
2. เข็มสหชาติ เป็นรูปงู ลงยาสีเขียว รูปร่างคล้ายพระนามาภิไธย “ป.ป.ร.” พันอยู่กับพระแสงศร 3 องค์ มีพระมหาพิชัยมงกุฎ และหมายเลข 7 ครอบอยู่ข้างบนหัวงูู (รูปงูลงยาสีเขียว อันเป็นสีและปี พระบรมราชสมภพ (วันพุธ ปีมะเส็ง) พระราชทานแก่พระบรมศานุวงศ์และข้าราชบริพารผู้ที่รับใช้ใกล้ชิด ซึ่งเกิดปีมะเส็งรอบเดียวกันกับพระองค์ เมื่อครั้งเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 3 รอบ (36 พรรษา) พ.ศ. 2472
3. เข็มอุปชาติ เป็นแหนบรูปวงรี ประกอบด้วย พระปรมาภิไธย ป.ป.ร. ซึ่งเขียนให้เหมือนงู ลงยาสีเขียว พันอยู่กับพระแสงศร 3 องค์ มีพระมหามงกุฎครอบอยู่ด้านบน พระราชทานให้แก่ผู้ที่รับใช้ ซึ่งเกิดปีมะเส็งเช่นเดียวกัน แต่คนละรอบ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ทำเข็มตราศักดิเดชน์ไว้พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานประเภทต่าง ๆ เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนประชาธิปก และโปรดเกล้าทำโล่ตราศักดิเดชน์พระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนประชาธิปกด้วย และเมื่อ พ.ศ. 2518 ทรงตั้งมูลนิธิประชาธิปก ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้ใช้ “ตราศักดิเดชน์” เป็นเครื่องหมายมูลนิธิ
นอกจากนี้ “พระนามศักดิเดชน์” หรือ “ตราศักดิเดชน์” ได้มีหน่วยงาน/องค์กรที่กราบบังคับทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อขอใช้ในกิจการของหน่วยงานหรือองค์กรอย่างเป็นทางการ ได้แก่
- ตึกศักดิเดชน์ โรงพยาบาลพระมงกุฎ ซึ่งคุณมณี สิริวรสาร และครอบครัว รวมทั้งผู้บริจาคอื่น ๆ ร่วมกันสมทบทุนสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระนาม “ศักดิเดชน์” มาใช้เป็นชื่ออาคาร พร้อมอัญเชิญตราพระจำพระองค์มาประดิษฐาน
- วิทยาลัยครูจันทบุรี หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (ในปัจจุบัน) ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากสวนบ้านแก้ว ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ตราศักดิเดชน์” เป็นตราประจำวิทยาลัย
- ตึกประชาธิปก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ได้รับพระราชทานตราศักดิเดชน์ ให้เป็นตราประจำตึก เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในพ.ศ. 2497
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
• ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
• STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
(2542). คุณหญิงมณี สิริวรสาร. ม.ป.พ.
ประชาธิปก-รำไพพรรณี, มูลนิธิ. (2551). ความเป็นมาและกิจกรรมระหว่างปี 2546-2550 ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. เอ.เอส.พี.ดีไซน์ พริ้นติ้ง.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). พระบรมราชสมภพ. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.