เรื่องเล่าพระปกเกล้าศึกษาจากสมุดภาพเสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469

ย้อนอดีตพุทธศักราช 2469 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ระหว่างวันที่ 6 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2469 นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในการเสด็จฯ เยือนหัวเมืองฝ่ายเหนือของพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชวงศ์จักรี เป็นการทรงปฏิบัติตามพระบรมราโชบายสืบต่อมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และเพื่อทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเสด็จอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของมณฑลพายัพ

ในการนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงพยาบาลโรคเรื้อน ซึ่งก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 2440 โดยนายแพทย์แมคเคน (Dr. James McKean) แพทย์ประจำตัวของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เกาะกลางแม่น้ำปิง เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ เพื่อก่อตั้งโรงพยาบาลโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย โดยในยุคสมัยนั้นถือเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรกของไทย ปัจจุบันคือสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ (McKean Senior Center)  และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความเมตตาและความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีให้แก่ราษฎร

สำหรับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในการเสด็จฯ เยือนมณฑลพายัพ ได้ถูกบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุและภาพประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ร้อยเรียงคำอธิบายไว้ในหนังสือสมุดภาพเสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 โดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ (บรรณาธิการ และผู้บรรยายภาพ) จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2561 โดยสถาบันพระปกเกล้าและจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้แผ่ไพศาลยั่งยืนสืบต่อไป

สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ :

  1. หนังสือ : สมุดภาพเสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469
  2. หนังสือ : จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469
  3. บทความ : 27 มกราคม 2469 พระราชพิธีสมโภชช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7466, 77
diis.stoulibrary@gmail.com