ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ในสาขาศึกษาศาสตร์


ห้องสมุด มสธ. ขอแสดงความยินดีในโอกาสพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2563 ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา สาขาศึกษาศาสตร์ แก่ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน โดยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ดาวน์โหลดราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2563

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2425 เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีครบ 100 ปี สำหรับพระราชทานเพื่อเป็นบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบในราชการแผ่นดิน

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลผู้ทรงคุณวุติในประวัติศาสตร์ของการศึกษาของประเทศไทยและต่างประเทศ ได้รับรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีผลงานด้านวิชาการทั้งตำรา บทความ เอกสารบรรยาย ปาฐกถาต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานอันทรงคุณประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งที่สำคัญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิ

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 ประธานกรรมการปฏิรูปการศึกษา
  • ผู้ก่อตั้งและเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • รองประธานบริหาร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เลขาธิการมูลนิธิจุฬาภรณ์
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาสถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม

นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านนวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่น 8 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร นวัตกรรมการวิจัยสถาบัน นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ นวัตกรรมเสริมสมอง นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นวัตกรรมกรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา และนวัตกรรมสหกิจศึกษา จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย”

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน กับ มสธ.

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและบุกเบิกมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ.2521 โดยใช้ระบบการสอนทางไกล เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับคนที่ไม่พร้อมจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยระบบปิด ทำให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่เกิดจากความคิด สติปัญญาและความสามารถของคนไทยอย่างแท้จริง จนองค์การ UNESCO ยกย่องให้เป็นสถาบันต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนระบบทางไกลที่ใช้สื่อประสมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และได้รับการยกย่องจากสภาการศึกษาทางไกลระหว่างประเทศให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก จึงถือได้ว่าท่านเป็นนักบริหารการศึกษาผู้มีความคิดก้าวหน้าผู้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองที่ยอดเยี่ยม สมดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ว่า

“…ผมเป็นครูโดยอาชีพ ผมตั้งใจและรักที่จะเป็นครู ปัจจุบันผมก็ยังไม่ได้หยุดสอน ผมก็มีความสุข สนุกกับการทำงานตรงจุดนี้ ผมไม่เคยท้อแท้ เพราะเห็นว่างานที่ทำจะสร้างความเจริญให้กับสังคม ให้กับการศึกษาไทยได้ และด้วยการศึกษานี่เองจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุกอย่าง ดังนั้น ถ้าการศึกษาไม่ดี เราก็จะไม่สามารถพัฒนาคนได้…”


สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

  1. คอลเลคชั่นพิเศษ นวัตกรรมวิจิตร
  2. คลังสารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน
  3. เว็บไซต์ สารสนเทศดิจิทัล ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน
  4. บรรณานุกรมผลงานวิชาการ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน พ.ศ. 2532 ( E-Book)
  5. บรรณานุกรมผลงานวิชาการ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (พ.ศ.2506-2553) (E-Book)
  6. วิจิตรกิตติการ: ประวัติ ผลงานและบรรณานุกรมผลงาน (พ.ศ.2554-2561) ( E-Book)
  7. วิจิตรลิขิต ( E-Book)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย
02-504-7467-68
diis.stoulibrary@gmail.com

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น