รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงทศวรรษที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง การขยายของเมืองและพลเมืองที่สูงขึ้น การพัฒนาสาธารณูปโภค การปรับตัวเข้าสู่สภาวะ “สมัยใหม่” ในสังคมสยาม ส่งผลให้สถาปัตยกรรมมีรูปแบบที่หลากหลาย โครงการก่อสร้างของภาครัฐสะท้อนความพยายามที่จะพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมมาตราฐานตะวันตก ขณะเดียวกันยังพยายามธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติไว้ในงานสถาปัตยกรรมของอาคารสถานศึกษา ศาสนสถาน และอนุเสาวรีย์ ส่วนภาคเอกชนผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลายของโลกตะวันตกกับแบบแผนความเป็นอยู่ของสยาม และเพราะในยุคสมัยนั้นการผลิตวัสดุก่อสร้างและวิธีการก่อสร้างแบบสมัยใหม่ ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารมีรูปแบบสมัยใหม่เรียบง่าย โดยออกแบบให้เน้นหน้าที่ใช้สอยให้มากขึ้นกว่าแต่เดิม
ในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 มีพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ช่างฝรั่งค่อย ๆ ลดบทบาทลง ภายหลังการเริ่มเข้ารับราชการของสถาปิกสยามรุ่นแรก รวมถึงเกิดการพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านการช่าง ทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนช่างก่อสร้าง อุเทนถวาย มีการตั้งสมาคมวิชาชีพ สมาคมสถาปนิกสยาม เพื่อผดุงมาตราฐานการประกอบวิชาชีพ และเป็นรากฐานที่สำคัญสืบต่อมาจนยุคปัจจุบัน
หนังสือ สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ ผู้เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง พัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัยเรื่อง พัฒนาการสถาปัตยกรรมในสยาม ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2468 – 2477) ที่มุ่งศึกษาสถาปัตยกรรมในยุคนั้น เพื่อให้เห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในความต้องการเชิงหน้าที่ใช้สอย รูปแบบ ผู้ออกแบบ เทคนิควิทยาการก่อสร้าง และชีวิตเมืองสมัยใหม่ของสยาม เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 3 บท คือ
- บทที่ 1 บริบทของสถาปัตยกรรมไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- บทที่ 2 วิชาชีพสถาปนิกในสมัยรัชกาลที่ 7
- บทที่ 3 สถาปัตยกรรมใต้ร่มฉัตรรัชกาลที่ 7
ภายในเล่มได้แสดงงานสถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยม สถาปัตยกรรมคลาสสิค อาร์ต นูโว อาร์ต เดโค และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อาทิ ปฐมบรมราชานุสรณ์ ศาลอำนวยการ ศิริราชพยาบาล ตำหนักใหม่วังสระปทุม ศาลาเฉลิมกรุง โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถาน โรงเบียร์บุญรอดบริวเวอรี่ เรือนจำบางขวาง เป็นต้น
สนใจอ่านเพิ่มเติมหนังสือ “สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ” ได้ที่ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7466-77
diis.stoulibrary@gmail.com