แรกริเริ่มมี “สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.” พัฒนามุ่งมั่นก้าวสู่บริการที่เป็นเลิศ

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือห้องสมุด มสธ. ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษา การบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่อาจารย์ บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมและให้บริการสารสนเทศอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ สารสนเทศสุโขทัยศึกษา สารสนเทศเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สารสนเทศการศึกษาทางไกล สารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย และสารสนเทศนนทบุรีศึกษา เพื่อส่งเสริมงานบริการห้องสมุดสู่ชุมชน

จุดเริ่มต้นจากศูนย์บรรณสารสนเทศสู่การพัฒนายกฐานะเป็น “สำนักบรรณสารสนเทศ”

สำนักบรรณสารสนเทศ มีรากฐานมาจากศูนย์บรรณสารสนเทศ สังกัดสำนักเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งจัดตั้งพร้อมกับการสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2521 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ สำหรับในช่วง 8 ปีแรก (พ.ศ.2521-2528) ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งหลักของห้องสมุด เริ่มต้นเปิดให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อปี 2522 ด้วยห้องสมุดขนาดเล็ก 4 ตารางเมตร ณ ที่ทำการชั่วคราวแห่งแรกของมหาวิทยาลัย บริเวณ ชั้น 6 บริษัท เดินอากาศไทย หลังจากนั้นได้มีการโยกย้ายห้องสมุดไปตามที่ทำการชั่วคราวของมหาวิทยาลัยในหลายๆ แห่ง และในปี 2527 ศูนย์บรรณสารสนเทศได้ย้ายเข้าสู่ที่ทำการถาวรของมหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานแรก เนื่องด้วยการเติบโตทั้งด้านกายภาพและการบริการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของบุคลากรอย่างรวดเร็ว

อาคารบรรณสาร อาคารห้องสมุด มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี ระหว่างการก่อสร้าง
บรรยากาศการทำงานในห้องสมุด ยุคแรกช่วงเปิดทำการอาคารบรรณสาร

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้รับการยกฐานะจากหน่วยงานระดับศูนย์ เป็น “สำนักบรรณสารสนเทศ” ตาม “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักบรรณสารสนเทศ และสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2529 มีเนื้อหาใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “เนื่องจากศูนย์บรรณสารสนเทศ ในสำนักเทคโนโลยีการศึกษา ได้ขยายงานด้านบริการห้องสมุดและสื่อการศึกษาในระบบการสอนทางไกลมากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น เพื่อให้การบริหารงานเป็นอิสระและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรยกฐานะศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา โดยจัดตั้งขึ้นเป็นสำนักบรรณสารสนเทศ…” และได้แต่งตั้งรองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยคนแรกของสำนักบรรณสารสนเทศ

อ่านฉบับเต็ม “พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักบรรณสารสนเทศ และสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2529” ได้ที่ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/A/025/1.PDF

บริการก้าวหน้าตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย “มสธ. ที่ไหน เวลาใด ใครก็เรียนได้”

สำนักบรรณสารสนเทศ มีแนวคิดจัดระบบบริการห้องสมุดให้สอดคล้องกับระบบการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัย ด้วยการบริการในระบบเครือข่ายจากส่วนกลางกระจายไปในระดับภาค และระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองของนักศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นให้การบริการที่ถึงตัวผู้ใช้บริการมากที่สุด โดยแบ่งเป็นระดับดังนี้ 1) บริการระดับส่วนกลาง ณ ที่ทำการมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช จ.นนทบุรี เพื่อให้บริการแก่คณาอาจารย์ในการผลิตเอกสารการสอนชุดวิชา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย 2) บริการระดับในส่วนภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ และศูนย์วิทยบริการบัณฑิตศึกษา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หอสมุดรัชมังคลาภิเษก วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหอสมุดติณสูลานนท์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา 3) บริการระดับจังหวัด ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ.  ตั้งอยู่ในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นเครือข่ายบริการความรู้ที่ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วทุกจังหวัด ถือเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ. หนึ่งในเครือข่ายการบริการในระดับจังหวัด

ประวัติและพัฒนาการที่ภาคภูมิจากอดีตสู่ปัจจุบัน

  • พ.ศ.2522 จัดตั้งศูนย์บรรณสารสนเทศ ภายในสังกัดสำนักเทคโนโลยีการศึกษา ณ ชั้น 6 บริษัท เดินอากาศไทย ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นที่ทำการชั่วคราวของ มสธ. ถือเป็นห้องสมุดยุคเริ่มแรก ที่ให้บริการในห้องขนาดเล็ก 4 ตารางเมตร มีชั้นหนังสือและโต๊ะเก้าอี้ 1 ชุด เพื่อใช้เป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือและเป็นโต๊ะประชุมคณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาของคณาจารย์รุ่นบุกเบิก
  • พ.ศ.2523 ในช่วงต้นปี 2523 มหาวิทยาลัยได้ที่ทำการชั่วคราวไปที่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เริ่มงานเทคนิคและงานให้บริการแก่ผู้ใช้มากขึ้น หลังจากนั้นในช่วงกลางปี 2523 ได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งไปยังชั้น 12 อาคารทบวงมหาวิทยาลัย ถนนศรีอยุธยา เน้นให้บริการยืมหนังสือและเอกสารไปใช้ที่บ้าน เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่
  • จัดตั้งเครือข่ายบริการห้องสมุดในส่วนภูมิภาค โดยร่วมกับวิทยาลัยครู (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎ) จำนวน 36 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการเอกสารการสอนและสื่อการศึกษาของ มสธ.
  • พ.ศ.2524 ย้ายที่ทำการไปยังชั้น 5 อาคารสิริภิญโญ หรือตึกกุ๊ก ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทำการมหาวิทยาลัยชั่วคราว มสธ. 3 ซึ่งห้องสมุดมีการพัฒนาและการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีบุคลากรเพิ่มขึ้น
  • 12 ตุลาคม 2524 ที่ประชุมสภาวิชาการมหาวิทยาลัย มีมติให้จัดตั้ง “หน่วยห้องสมุด มสธ” ในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด เพื่อขยายพื้นที่บริการห้องสมุดแก่นักศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
  • พ.ศ.2525 หน่วยห้องสมุด มสธ. เปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ.” (ตามด้วยชื่อจังหวัด) ตามประกาศมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2525
  • พ.ศ.2527 ห้องสมุดย้ายเข้าสู่ที่ทำการถาวรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นหน่วยงานแรก ณ อาคารบรรณสาร อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2527
  • พ.ศ.2528 จัดตั้งมุม มสธ. ในเรือนจำเป็นครั้งแรก ที่เรือนจำกลางบางขวาง เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาซึ่งเป็นผู้ต้องขัง
  • พ.ศ.2529ได้ รับการยกฐานะจากศูนย์บรรณสารสนเทศ เป็น “สำนักบรรณสารสนเทศ” โดยมีรองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
  • พ.ศ.2535 ขยายพื้นที่ทำการและบริการของห้องสมุดเพิ่มเติมมายัง อาคารวิชาการ 1 ชั้น 2, 3 และ 4
  • พ.ศ.2536 นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS (Virginia Tech Library Systems) เข้ามาใช้ในการดำเนินงานห้องสมุดและให้บริการแก่ผู้ใช้
  • พ.ศ.2538 จัดพิธีเปิดห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 เพื่อรวบรวมและให้บริการสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับพระองค์
  • พ.ศ.2541 เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (ThaiLIS)
  • พ.ศ.2548 เข้าร่วมเป็นสมาชิกข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยภูมิภาค (PULINET) เพื่อเป็นข่ายงานความร่วมมือด้านสานสนเทศ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันในการสนับสนุนการเรียนการสอน
  • พ.ศ.2550 ริเริ่มโครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษา เพื่อส่งเสริมบริการวิชาการแก่สังคม
  • พ.ศ.2557 เข้าร่วมเป็นเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นห้องสมุดสีเขียวแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นคณะทำงานพัฒนามาตรฐานห้องสมุดสีเขียวของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ
  • พ.ศ.2561 เปลี่ยนระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS เป็นระบบ MATRIX
  • พ.ศ.2563 อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งจะเป็นอาคารที่ทำการห้องสมุดแห่งใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในพ.ศ. 2566

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

หน่วยจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7467-68
libinfoservice@stou.ac.th