ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ปูชนียบุคคลผู้สร้างรากฐานการศึกษาไทย

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เป็นผู้นำทางความคิดและสร้างนวัตกรรมการศึกษาไทย ที่ได้รับรางวัลดีเด่นและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ท่านมีผลงานด้านวิชาการ ทั้งงานวิจัย ตำรา บทความ เอกสารบรรยาย และปาฐกถาต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานอันทรงคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  1. ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร
  2. เส้นทางสู่เกียรติศักดิ์นักบริหารการศึกษา
  3. ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กับการอุดมศึกษา
  4. ก่อตั้ง มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดด้านการศึกษาทางไกล
  5. หยั่งรากแห่งความมั่นคงของมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ
  6. บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย
  7. “นวัตกรรมวิจิตร” ผลงานจากแนวคิดสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่  22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาในวัยเด็ก เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาช้ากว่าเด็กอื่น ๆ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงและบ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน จึงต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอนหนังสือให้ด้วยตนเอง ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง และโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ตามลำดับ ซึ่งจากการเรียนหนังสือที่บ้านทำให้รู้หนังสือก้าวหน้ามากกว่าเพื่อนร่วมชั้น จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องและผู้ช่วยครูมาตลอด เป็นส่วนที่หล่อหลอมรากฐานแห่งความเป็นผู้นำและความเป็นครู

สำหรับ ชีวิตในวัยเด็กต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความลำบาก เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ทำให้ได้รับหน้าที่เสาหลักของครอบครัว ดูแลงานที่บ้าน ดูแลน้อง และดูแลร้านขายของชำ พร้อมกับการเรียนหนังสือ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ได้ศึกษาต่อสายศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพราะชอบวิชาภาษาไทย ในระยะแรก ท่านมีปัญหาวิชาภาษาอังกฤษสอบได้คะแนนอันดับสุดท้ายในชั้นเรียน แต่ด้วยความพากเพียร จึงขวนขวายเรียนพิเศษจนสามารถสอบวิชาอังกฤษได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และยังหารายได้พิเศษระหว่างเรียนด้วยการรับสอนพิเศษตามบ้าน ทำให้ท่านสั่งสมความสามารถในการสอนหนังสือตั้งแต่ยังวัยเยาว์ ซึ่งจากอุปสรรคในวัยเด็กนั้นหล่อหลอมให้ท่านเป็นคนแข็งแกร่ง และเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้รวดเร็ว และตัดสินใจแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

“…นอกจากเรื่องการชินกับการทํางานหนัก ต่อสู้กับชีวิตมาตลอดจนมีความมั่นใจว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถ ถ้าเราสู้ชีวิตและขอแค่ทําทุกอย่างให้ดีสุดไม่ว่าจะทําอะไรแล้ว…” (อมรวิชช์ นาครทรรพ, 2558)

หลังจากการศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกการสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยทุนของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพครู และสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนี้

  • พ.ศ. 2502 ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2504 ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2507 ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนจากมูลนิธิฟุลไบรท์
  • พ.ศ. 2510 ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนของมหาวิทยาลัย Minnesota
  • พ.ศ. 2519 – 2520 หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 19 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เส้นทางสู่เกียรติศักดิ์นักบริหารการศึกษา

“ผมเป็นครูโดยอาชีพ ผมตั้งใจและรักที่จะเป็นครู ปัจจุบันผมก็ยังไม่ได้หยุดสอน แต่ผมก็มีความสุข สนุกกับการทำงานตรงจุดนี้ ผมไม่เคยท้อแท้ เพราะเห็นว่างานที่ทำมันจะสร้างความเจริญให้กับสังคม ให้กับการศึกษาไทยได้ และด้วยการศึกษานี่เองจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุกอย่าง ดังนั้นถ้าการศึกษาไม่ดี เราก็จะไม่สามารถพัฒนาคนได้” คำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาและความภาคภูมิใจในวิชาชีพครู

เมื่อปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเลขานุการ ดูแลงานธุรการและงานบริหารของคณะ ด้วยความรู้ความสามารถในการบริหารและการแก้ปัญหาทางการศึกษา จึงได้รับดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ๆ อาทิ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เลขานุการบริหารมหาวิทยาลัย เลขาธิการมหาวิทยาลัย เลขานุการรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2549 -2551

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กับการอุดมศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการศึกษาในหน้าที่สำคัญ ๆ อาทิ การแก้ปัญหาทางการบริหาร ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความรู้ความสามารถและคุณธรรมของผู้นำ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ รองอธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัย รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย

เมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานที่ต้องประสานขอความร่วมมือจากอาจารย์อาวุโส ได้ยึดถือหลักการทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจนสามารถดำเนินงานบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก

เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในขณะอายุยังน้อยในวัยเพียง 40 ปี และได้รับมอบหมายให้รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง จนได้รับขนานนามในหนังสือ Who is Who in Thailand ว่า “นักดับปัญหาทางการศึกษา” (Educational Troubleshooter)

“…เมื่อต้องมีชีวิตแบบนี้ก็ต้องสั่งสมประสบการณ์หลากหลาย ยิ่งมากขึ้นก็ยิ่งชินกับเรื่องของการทํางานต่อสู้เอาชนะอุปสรรค และทุกครั้งที่ผ่านมาได้ก็สะสมความมั่นใจมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ความมั่นใจในตัวเอง แต่คือความมั่นใจว่าชีวิตคือการต่อสู้และไม่มีอะไรที่อยู่เหนือความสามารถถ้าเราทุ่มเทความพยายามให้เต็มที่…” (อมรวิชช์ นาครทรรพ, 2558: 56) แสดงให้เห็นถึงความมีเลือดนักสู้และวิญญาณนักต่อสู้

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่

  • พ.ศ. 2520 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2521 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2521 – 2530 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พ.ศ. 2535 – 2543 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • พ.ศ. 2536 – 2541 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • พ.ศ. 2549 – 2550 อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

นอกจากนี้ ได้คิดสร้างสิ่งใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ “จุดประกาย ขายความคิด พิชิตความเปลี่ยนแปลง และสร้างความต่อเนื่อง” ได้แก่ ริเริ่มมหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ งานสหกิจศึกษา งานวิจัยสถาบัน และงานค่ายอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยในเรือนจำ โครงการนักเรียนทุนการศึกษาเสริมสมอง ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนระดับประถมศึกษาให้มีโอกาสได้เรียนจนถึงระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ถนัด

ก่อตั้ง มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดด้านการศึกษาทางไกลแห่งแรก

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งการศึกษาทางไกลของประเทศไทย” เป็นผู้นำระบบการศึกษาทางไกลมาใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ถือเป็น “นวัตกรรมอุดมศึกษาของประเทศไทย” ที่ให้โอกาสทางการศึกษา จนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในระบบการสอนทางไกลที่ใช้สื่อประสมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และได้รับการยกย่องจากสภาการศึกษาทางไกลระหว่างประเทศให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก และได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่เกิดจากความคิด สติปัญญาและความสามารถของคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเปิดจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ เมื่อศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ได้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับปริญญา โดยอาศัยสื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน จนสำเร็จได้ยกร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้มหาวิทยาลัยเปิดเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานสิทธิเสรีภาพและผู้ทรงสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางใจที่ประเทศชาติและประชาชนมอบให้” ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวไว้เมื่อครั้งได้รับความไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั้งใหม่และมีนักศึกษากว่าแสนคน ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในระยะที่ท่านเป็นอธิการบดี เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากที่สุด การทำงานเป็นทีม และการเป็นที่พึ่งของผู้อื่น โดยยึดหลัก “การบริการคืองานของเรา

หยั่งรากแห่งความมั่นคงของมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2535 โดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเชิงระบบบริหารเต็มรูปแบบ ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐหรือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งระบบราชการไม่เอื้อต่อการทำงานของมหาวิทยาลัย เป็นการสืบทอดเจตนารมย์ “กระบวนการสวางคนิวาส” ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2506 ที่มุ่งหวังให้สถาบันอุดมศึกษาเจริญรุดหน้า เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และมีอิสรภาพในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และการดําเนินภารกิจทุก ๆ ด้าน ด้วยหลักการที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคลและการเงินที่มีความคล่องตัว เพื่อดึงดูดคนดีคนเก่่งเข้ามาเป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย

บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย” ถือเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2536

สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning)

นวัตกรรมวิจิตร ผลงานจากแนวคิดสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

นวัตกรรมวิจิตร เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ได้คิดสร้างสิ่งใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชีวิต และสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 8 นวัตกรรม ดังนี้

  1. นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร

เป็นแนวคิดในการนำกิจกรรมค่ายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนักศึกษา เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ ที่มาของแนวคิดจากการเป็นตัวแทนผู้นำนิสิตนักศึกษาในการเข้าค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติ ขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หมู่บ้านชนบทในรัฐบอมเบย์ของอินเดีย

  1. นวัตกรรมการวิจัยสถาบัน

เป็นการวิเคราะห์วิจัยศึกษาสถาบันของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศสำหรับกำหนดนโยบายการบริหาร ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งมีบทบาทต่อการประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาของการวิจัยสถาบันในประเทศไทย”

  1. นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นนวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิดที่เกิดจากความเชื่อและแรงบันดาลใจจากแนวคิดมหาวิทยาลัยในกระดาษ สู่ มหาวิทยาลัยในการกระทำ เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องความเสมอภาคและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วประเทศไทยและต่างประเทศให้ได้มีโอกาสศึกษาจนจบปริญญาตรี

  1. นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง

เป็นการจัดตั้งกองทุนการศึกษาเสริมสมอง เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในการให้ทุนกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้ศึกษาจนจบปริญญาตรี ภายใต้โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมองของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

  1. นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ

เป็นนวัตกรรมคืนคนดีสู่สังคม ที่ยึดหลักให้การศึกษาตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ต้องขังที่ขาดโอกาสในการเรียนมหาวิทยาลัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกับกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันจัดการเรียนการสอนในเรือนจำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527

  1. นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

เป็นนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารที่คล่องตัว และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 และแห่งที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2533

  1. นวัตกรรมสหกิจศึกษา

เป็นกระบวนการของการพัฒนานักศึกษาควบคู่กับการเรียนการสอนปกติในมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการทุกสาขาวิชา โดยกรอบแนวคิด “สหกิจศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของมาตราฐานทางวิชาการตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตราฐานวิชาชีพควบคุมตามที่มีกฎหมายรองรับ ถือเป็นการจัดประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการ”

  1. นวัตกรรมพัฒนาบุคลากรตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพอุดมศึกษา

เป็นแนวคิดในการพัฒนาคณาจารย์และผู้สนับสนุนการเรียนรู้ตามกรอบมาตราฐานวิชาชีพด้านการเรียนการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ของอังกฤษ (UK Professional Standards Framework – UKPSF) แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow และ Principal Fellow เพื่อบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและมีประสิทธิภาพตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ

เอกสารอ้างอิง

อมรวิทย์ นาครทรรพ. (2558). วิจิตรกิตติการ. ศูนย์บรรณสารการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ