STOU Storian Podcast EP.9 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้บุกเบิกและวางรากฐาน มสธ.

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในแวดวงการศึกษารู้จักท่านเป็นอย่างดี ในฐานะนักบริหารการศึกษา ที่มีตำแหน่งสำคัญในระดับประเทศประมาณ 70 ตำแหน่ง หรือในฐานะนักนวัตกรรมที่มีผลงานการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่ช่วยพัฒนาประเทศชาติถึง 8 นวัตกรรม รวมถึงในฐานะนักการศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,500 ผลงาน ที่สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้รวบรวมและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ห้องสมุด มสธ. นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะผู้บุกเบิกและวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ถือเป็น “นวัตกรรมอุดมศึกษาของประเทศไทย” ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเปิดจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้

ประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เมื่อเรียนจบ อ.บ. ปี 2502

ด้านการศึกษา ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน และโรงเรียนสวนกุหลาบ หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้สอบชิงทุนมูลนิธิฟุลไบรท์ เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า และมหาวิทยาลัยมินเนโซต้าได้มอบทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2549 – 2551

ด้านการทำงาน ท่านดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากมาย เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย รองประธานบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายกสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกหลายแห่ง

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ในสาขาศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2563

รางวัลสำคัญที่ได้รับ ประมาณ 50 กว่ารางวัล อาทิ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยภายในและต่างประเทศ รางวัลเกียรติคุณนักบริหารการศึกษาดีเด่น รางวัลเกียรติคุณผลงานดีเด่น รางวัลข้าราชการดีเด่นครุฑทองคำ โล่สามศรเกียรติยศ และล่าสุด คือ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2563 ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา สาขาศึกษาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกและวางรากฐานพัฒนา มสธ. โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด ช่วงที่ 2 ผลิดอกออกผลการศึกษา และ ช่วงที่ 3 การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ช่วงที่ 1 มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด

เมื่อเริ่มเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งท่านได้เคยเล่าให้ฟังว่าประเทศไทยช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่มีข้อจำกัดมาก เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ท่านตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด เมื่อได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทางการบริหารการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ในช่วงปี 2505-2510 จึงทำการศึกษาวิเคราะห์ ว่ามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ในงานภาคนิพนธ์ เรื่อง ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา รวมถึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเพิ่งจัดตั้งในปี 2512 ทำให้เกิดความมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยเปิด เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาได้ เมื่อท่านเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพยายามขายความคิดนี้แก่หน่วยงานและบุคคลมาโดยตลอด

จนโอกาสทองมาถึงเมื่อรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ท่านจึงได้มีโอกาสเสนอเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการ ต่อมาในปี 2518 ที่เป็นรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านในฐานะรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้เสนอ แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิด ตามแนวปฏิรูปการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบ และในปี 2519 จึงมีการแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิดขึ้น โดยมีท่านเป็นประธานและนักการศึกษาอีก จำนวน 20 คน คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดทำโครงการและวางรูปแบบของมหาวิทยาลัยเปิด พร้อมยกร่างพระราชบัญญัติ

จนเมื่อในวันที่ 5 กันยายน ปี พ.ศ. 2521 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เราจึงถือเป็นวันมิ่งมงคลและวันสถาปนามหาวิทยาลัยจึงเป็นอันสิ้นสุดช่วง มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด

ช่วงที่ 2 ผลิดอกออกผลการศึกษา

หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งแล้ว และท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2521 รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า … ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องบุกเบิกในฐานะของอธิการบดีคนแรก คือ การเตรียมการที่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันก่อตั้ง ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาใน 5 เรื่อง คือ 1.การสรรหาบุคลากร 2.การจัดระบบบริหาร 3.การพัฒนาหลักสูตรและระบบการสอนทางไกล 4.การจัดระบบบริการการศึกษาและเตรียมรับนักศึกษา และ 5.จัดหาสถานที่ตั้งและก่อสร้างที่ทำการมหาวิทยาลัย

ซึ่งท่านได้กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะประกันความสำเร็จของหน่วยงานใหม่ คือ บุคลากร ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรที่อุทิศตัว มีความเก่งกล้าสามารถ และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการวิชาชีพ ส่วนการจัดระบบบริหาร หลักการสำคัญที่เอื้อต่ออำนวยต่อการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดคือการจัดองค์กรแบบเตี้ย เช่น ไม่แบ่งเป็นภาควิชาและคณะ แต่จัดเป็นสาขาวิชา และสำหรับการพัฒนาหลักสูตรและระบบการสอนทางไกล ใช้หลักพหุวิทยาการ ใช้ระบบทางไกลประเภทสื่อประสม โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และมีสื่อประกอบต่างๆ โครงสร้างหลักสูตรใช้ระบบชุดวิชา ซึ่งมีค่าเท่ากับ 6 หน่วยกิตทวิภาค เพื่อให้เกิดบูรณาการด้านเนื้อหาสาระ เอื้อต่อการสอนโดยสื่อประสม สะดวกต่อการสอบในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ และสามารถจัดสนามสอบได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงสามารถแสวงหาสถานที่ตั้งชั่วคราว และที่ทำการถาวร ณ เมืองทองธานีแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ซึ่งผลสำเร็จจากภารกิจเร่งด่วนทั้ง 5 ประการ ได้ผลิดอกออกผลออกมาในรูปต่าง ๆ เช่น ผลจากการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนธันวาคม ปี 2523 ปรากฏว่ามีผู้สมัครเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 เท่าตัวหรือประมาณ 84,000 คน ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย จากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ อาทิ รางวัลการบริหารดีเด่นแห่งเอเชีย ปี 2536 รางวัลมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก ปี 2538 และในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีในปี พ.ศ. 2522-2530 ยังสร้าง 3 นวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ได้แก่ นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง และนวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ สำหรับรายละเอียดแต่ละนวัตกรรมสามารถอ่านได้ในหนังสือวิจิตรกิตติการ มีให้บริการเป็น E-Book ให้ในเว็บไซต์ห้องสมุด มสธ.

ช่วงที่ 3 พัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ซึ่งหลังจากนั้นท่านก็ได้กลับมาช่วยดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยอีกเป็นระยะ คือ ในปี พ.ศ. 2531-2533, 2549-2554 และ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมีพัฒนาการมากมายหลายด้าน

โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ที่มหาวิทยาลัยมีการปรับตัวครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการเผชิญความท้าทายในเรื่องต่าง ๆ อาทิ จำนวนนักศึกษาที่ลดลง ระบบการจัดการศึกษาทางไกลที่ต้องปรับตัวให้ทันสมัยและสะดวกเรียนสะดวกรู้มากขึ้น จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ซึ่งผลของคณะกรรมการดังกล่าวทำให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับยุค 4.0 มาใช้ปรับปรุงระบบการเรียนการสอนของ มสธ. หรือที่เรียกว่า “Blended Learning” คือ การเรียนแบบผสมผสานระหว่างเนื้อหาทางวิชาการกับกิจกรรมร่วมเรียนรู้ และมีการเพิ่มแผนการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็น 3 แผน คือ แผน ก1 ก2 และ ก3 นอกจากนี้ท่านยังนำนวัตกรรมกรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอน และการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา หรือ Professional Standard Framework-PSF มาส่งเสริมและสนับสนุนใน มสธ.

ทั้งหมดเหล่านี้ คือ ตัวอย่างผลงานส่วนหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้บุกเบิกและวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่จะอยู่ในความทรงจำของชาว มสธ. ตลอดไป

เรียบเรียงโดย

ยวิญฐากรณ์ ทองแขก บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

YouTube: https://youtu.be/WaKH9iohlDQ
Spotify: https://spotify.link/Om7KJG5uWDb
SoundCloud: https://on.soundcloud.com/qnrrA