กำเนิดนามสกุลคนไทย

นามสกุล คือชื่อสกุลของแต่ละตระกูล นามสกุลจะบอกถึงที่มาของบุคคลนั้น ๆ ว่า เป็นสมาชิกของครอบครัวใด บุคคลนั้นมาจากตระกูลใด มีใครเป็นพ่อแม่ และต้นตระกูลคือผู้ใด

นับแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยไม่มีการใช้นามสกุลใช้เพียงชื่อเรียกในการระบุตัวบุคคลเท่านั้น เช่น ตาสี ตาสา ยายมา ยายไส นายมั่น นายมี ซึ่งก็เป็นการเรียกที่สนุกปากดี แต่เมื่อผู้คนมากขึ้น การเรียกชื่ออย่างเดียวเริ่มเกิดปัญหา การตั้งชื่อซ้ำ ๆ กัน ทำให้เวลาจะสืบหาหรือระบุเจาะจงว่าคนผู้นั้นเป็นใครทำได้ยาก

ด้วยเหตุที่มีความยุ่งยากเรื่องชื่อบุคคลที่ซ้ำกันมาก และเพื่อให้การสอบสวนรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอตั้งแต่บิดา มารดาให้มีความถูกต้องแม่นยำ ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456” ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยมีการประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมืองตลอดทั่วพระราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ได้ระบุไว้ว่า

– ชื่อคนไทยทุกคน ต้องประกอบด้วยชื่อตัวและชื่อสกุล
– ชื่อตัวเป็นชื่ออันได้ให้แก่เด็กมาแต่เกิด
– ชื่อสกุลเป็นชื่อประจำวงศ์สกุล ซึ่งสืบมาแต่บิดาถึงบุตร
– หญิงที่ได้ทำการสมรสมีสามีแล้ว ให้ใช้ชื่อสกุลของสามีหรือคงใช้ชื่อตัว และชื่อสกุลเดินของตนได้
– ห้ามมิให้บุคคลใดเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุลของตน หรือของบุตร หลาน เหลน ผู้สืบเชื้อสายตน เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากเสนาบดีเจ้ากระทรวงผู้บังคับราชการท้องที่อำเภอ ทั้งในกรุงและหัวเมือง
– ถ้าครอบครัวใดยังไม่มีชื่อสกุลใช้ ให้หัวหน้าครอบครัวนั้นเลือกหาชื่อใดชื่อหนึ่งตามสมควร เว้นแต่ว่าชื่อนั้นอย่าให้ พ้องกับพระนามพระราชวงศานุวงศ์ ผู้ทรงอิสริยยศฐานันดร ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป อย่าให้เป็นชื่อที่มุ่งหมายคล้ายคลึงกับราชทินนาม อันเป็นตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ อย่าให้เป็นชื่อที่มีอรรถหยาบคายไม่สมควร อย่าให้เป็นชื่อซึ่งจะต้องเขียนเกินกว่าสิบตัวอักษร อย่าให้เป็นชื่อซ้ำเหมือนกับชื่อสกุล ซึ่งได้ใช้อยู่แล้วขณะวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ หรือซ้ำกับชื่อซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วในแขวงอำเภอท้องที่เดียวกัน หรือในแขวงอำเภอท้องที่ติดต่อกัน

จากข้อมูลที่กล่าวมาเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของนามสกุลคนไทยอันเกิดจากการมองการณ์ไกลของในหลวงรัชกาลที่ 6 ก่อให้เกิดประโยชน์ในระบบราชการสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมตามแบบสากลนับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติของเรามาจนถึงปัจจุบัน

หากสนใจหนังสือเล่มนี้ ตรวจสอบสถานะ