ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในแวดวงการศึกษารู้จักท่านเป็นอย่างดี ในฐานะนักบริหารการศึกษา ที่มีตำแหน่งสำคัญในระดับประเทศประมาณ 70 ตำแหน่ง หรือในฐานะนักนวัตกรรมที่มีผลงานการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่ช่วยพัฒนาประเทศชาติถึง 8 นวัตกรรม รวมถึงในฐานะนักการศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,500 ผลงาน ที่สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้รวบรวมและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ห้องสมุด มสธ. นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะผู้บุกเบิกและวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ถือเป็น “นวัตกรรมอุดมศึกษาของประเทศไทย” ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเปิดจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้
ประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้านการศึกษา ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน และโรงเรียนสวนกุหลาบ หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้สอบชิงทุนมูลนิธิฟุลไบรท์ เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า และมหาวิทยาลัยมินเนโซต้าได้มอบทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก
ด้านการทำงาน ท่านดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากมาย เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย รองประธานบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายกสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกหลายแห่ง
รางวัลสำคัญที่ได้รับ ประมาณ 50 กว่ารางวัล อาทิ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยภายในและต่างประเทศ รางวัลเกียรติคุณนักบริหารการศึกษาดีเด่น รางวัลเกียรติคุณผลงานดีเด่น รางวัลข้าราชการดีเด่นครุฑทองคำ โล่สามศรเกียรติยศ และล่าสุด คือ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2563 ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา สาขาศึกษาศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกและวางรากฐานพัฒนา มสธ. โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด ช่วงที่ 2 ผลิดอกออกผลการศึกษา และ ช่วงที่ 3 การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ช่วงที่ 1 มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด
เมื่อเริ่มเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งท่านได้เคยเล่าให้ฟังว่าประเทศไทยช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่มีข้อจำกัดมาก เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ท่านตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด เมื่อได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทางการบริหารการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ในช่วงปี 2505-2510 จึงทำการศึกษาวิเคราะห์ ว่ามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ในงานภาคนิพนธ์ เรื่อง ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา รวมถึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเพิ่งจัดตั้งในปี 2512 ทำให้เกิดความมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยเปิด เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาได้ เมื่อท่านเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพยายามขายความคิดนี้แก่หน่วยงานและบุคคลมาโดยตลอด
จนโอกาสทองมาถึงเมื่อรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ท่านจึงได้มีโอกาสเสนอเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการ ต่อมาในปี 2518 ที่เป็นรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านในฐานะรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้เสนอ แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิด ตามแนวปฏิรูปการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบ และในปี 2519 จึงมีการแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิดขึ้น โดยมีท่านเป็นประธานและนักการศึกษาอีก จำนวน 20 คน คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดทำโครงการและวางรูปแบบของมหาวิทยาลัยเปิด พร้อมยกร่างพระราชบัญญัติ
จนเมื่อในวันที่ 5 กันยายน ปี พ.ศ. 2521 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เราจึงถือเป็นวันมิ่งมงคลและวันสถาปนามหาวิทยาลัยจึงเป็นอันสิ้นสุดช่วง มหาวิทยาลัยกระดาษจากความคิด
ช่วงที่ 2 ผลิดอกออกผลการศึกษา
หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งแล้ว และท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2521 รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า … ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องบุกเบิกในฐานะของอธิการบดีคนแรก คือ การเตรียมการที่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันก่อตั้ง ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาใน 5 เรื่อง คือ 1.การสรรหาบุคลากร 2.การจัดระบบบริหาร 3.การพัฒนาหลักสูตรและระบบการสอนทางไกล 4.การจัดระบบบริการการศึกษาและเตรียมรับนักศึกษา และ 5.จัดหาสถานที่ตั้งและก่อสร้างที่ทำการมหาวิทยาลัย
ซึ่งท่านได้กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะประกันความสำเร็จของหน่วยงานใหม่ คือ บุคลากร ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรที่อุทิศตัว มีความเก่งกล้าสามารถ และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการวิชาชีพ ส่วนการจัดระบบบริหาร หลักการสำคัญที่เอื้อต่ออำนวยต่อการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดคือการจัดองค์กรแบบเตี้ย เช่น ไม่แบ่งเป็นภาควิชาและคณะ แต่จัดเป็นสาขาวิชา และสำหรับการพัฒนาหลักสูตรและระบบการสอนทางไกล ใช้หลักพหุวิทยาการ ใช้ระบบทางไกลประเภทสื่อประสม โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และมีสื่อประกอบต่างๆ โครงสร้างหลักสูตรใช้ระบบชุดวิชา ซึ่งมีค่าเท่ากับ 6 หน่วยกิตทวิภาค เพื่อให้เกิดบูรณาการด้านเนื้อหาสาระ เอื้อต่อการสอนโดยสื่อประสม สะดวกต่อการสอบในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ และสามารถจัดสนามสอบได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงสามารถแสวงหาสถานที่ตั้งชั่วคราว และที่ทำการถาวร ณ เมืองทองธานีแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ซึ่งผลสำเร็จจากภารกิจเร่งด่วนทั้ง 5 ประการ ได้ผลิดอกออกผลออกมาในรูปต่าง ๆ เช่น ผลจากการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนธันวาคม ปี 2523 ปรากฏว่ามีผู้สมัครเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 เท่าตัวหรือประมาณ 84,000 คน ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย จากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ อาทิ รางวัลการบริหารดีเด่นแห่งเอเชีย ปี 2536 รางวัลมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก ปี 2538 และในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีในปี พ.ศ. 2522-2530 ยังสร้าง 3 นวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ได้แก่ นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง และนวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ สำหรับรายละเอียดแต่ละนวัตกรรมสามารถอ่านได้ในหนังสือวิจิตรกิตติการ มีให้บริการเป็น E-Book ให้ในเว็บไซต์ห้องสมุด มสธ.
ช่วงที่ 3 พัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ซึ่งหลังจากนั้นท่านก็ได้กลับมาช่วยดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยอีกเป็นระยะ คือ ในปี พ.ศ. 2531-2533, 2549-2554 และ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมีพัฒนาการมากมายหลายด้าน
โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ที่มหาวิทยาลัยมีการปรับตัวครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการเผชิญความท้าทายในเรื่องต่าง ๆ อาทิ จำนวนนักศึกษาที่ลดลง ระบบการจัดการศึกษาทางไกลที่ต้องปรับตัวให้ทันสมัยและสะดวกเรียนสะดวกรู้มากขึ้น จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ซึ่งผลของคณะกรรมการดังกล่าวทำให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับยุค 4.0 มาใช้ปรับปรุงระบบการเรียนการสอนของ มสธ. หรือที่เรียกว่า “Blended Learning” คือ การเรียนแบบผสมผสานระหว่างเนื้อหาทางวิชาการกับกิจกรรมร่วมเรียนรู้ และมีการเพิ่มแผนการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็น 3 แผน คือ แผน ก1 ก2 และ ก3 นอกจากนี้ท่านยังนำนวัตกรรมกรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอน และการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา หรือ Professional Standard Framework-PSF มาส่งเสริมและสนับสนุนใน มสธ.
ทั้งหมดเหล่านี้ คือ ตัวอย่างผลงานส่วนหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้บุกเบิกและวางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่จะอยู่ในความทรงจำของชาว มสธ. ตลอดไป
เรียบเรียงโดย
ยวิญฐากรณ์ ทองแขก บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่
YouTube: https://youtu.be/WaKH9iohlDQ
Spotify: https://spotify.link/Om7KJG5uWDb
SoundCloud: https://on.soundcloud.com/qnrrA