ขอแสดงความยินดีกับ นายพิศาล บุญผูกที่ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาเอกสารสนเทศศาสตร์

สำนักบรรณสารสนเทศ ขอแสดงความยินดีกับนายพิศาล บุญผูก ที่ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาเอกสารสนเทศศาสตร์ และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 โดย นางวรนุช สุนทรวินิต อดีตผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ เป็นตัวแทนจาก รองศาสตราจารย์กฤติกา จิวาลักษณ์ ผู้อำนวยการสำบรรณสารสนเทศ และบุคลากรสำนักบรรณสารสนเทศ มอบพวงมาลัยแสดงความยินดีและแสดงมุทิตาจิตแด่ นายพิศาล บุญผูก เนื่องในโอกาสนี้ด้วย

นายพิศาล บุญผูก เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการสั่งสมความรู้ จากการสังเกต การอ่าน การฟัง และการจดบันทึกเรื่องราว สนใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิต อาชีพท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ด้วยความห่วงใยในการสูญหายของเรื่องราว จึงพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ และหาโอกาสในการถ่ายทอด เผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจ โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต จากแหล่งต่าง ๆ ทำการบันทึกในสื่อทุกรูปแบบ อาทิ หนังสือ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ ตลอดจนการถอดบทเรียนการบรรยาย การสัมมนาทางวิชาการ รวมทั้งการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้นำและผู้รู้ในท้องถิ่น การรวบรวมข้อมูลจากการบอกเล่าซึ่งเป็นความทรงจำของบุคคลในท้องถิ่น นำมาประมวลสารสนเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลิตเนื้อหาและถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการที่ปรึกษา กรรมการ และที่ปรึกษาให้แก่บุคคล หน่วยงานทั้งโรงเรียน สถาบันการศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนวัด และพระสงฆ์

นายพิศาล บุญผูก เป็นผู้มีความรอบรู้ในหลายด้าน สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทั้งโดยการพูดอรรถาธิบาย และการเขียน มีผลงานการเขียนบทความและหนังสือมากมาย ในระยะแรกได้ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา นำคณะออกสำรวจและผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และเมื่อมหาวิทยาลัยได้ริเริ่มงานด้านท้องถิ่นศึกษา ได้ร่วมดำเนินงานกับสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นหน่วยงานห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ที่สนใจและสร้างสรรค์พัฒนางาน “โครงการการจัดการสารสนเทศท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษา” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 18 ปี มีผลสัมฤทธิ์เป็นหนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ชุด “นนทบุรีศึกษา” และต่อยอดเป็นสารสนเทศรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการถาวร นิทรรศการออนไลน์ รายการเสียงออนไลน์ จนถึงปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในการนำเสนอเรื่องราวของจังหวัดนนทบุรี

นอกจากนี้ ยังเก็บรวบรวมหนังสือภาษาไทยและภาษามอญ โดยได้ทำการแปลหนังสือภาษามอญเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ร้อยแก้ว และร้อยกรอง เป็นจำนวนมาก ตลอดจนรวบรวมวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับงานอาชีพท้องถิ่นการทำเครื่องปั้นดินเผา อันเป็นที่มาของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี ชิ้นงานศิลปวัตถุ งานหัตถกรรมศิลปะมอญ ใช้บ้านพักอาศัยของตนเองจัดตั้งเป็นองค์การสารสนเทศ ในนามพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกวานอาม่าน ซึ่งเป็นพิพิธพื้นบ้านส่วนบุคคล ถือเป็นแหล่งสารสนเทศที่สำคัญทั้งในฐานะแหล่งกำเนิด แหล่งรวม และแหล่งที่ให้สารสนเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้สนับสนุนให้การศึกษาที่สำคัญของจังหวัดนนทบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ถึงปัจจุบัน เพื่อจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในจังหวัดนนทบุรีและใกล้เคียง รวมทั้งเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมนนทบุรี” ที่ให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิจัยทุกระดับ ให้ความร่วมมือแก่หน่วยงาน ส่วนราชการ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้อธิบายให้ความรู้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงาน นับได้ว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเกาะเกร็ดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดนนทบุรี

นายพิศาล บุญผูก เป็นผู้มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม และ การบริการวิชาการเพื่อบูรณาการความรู้ใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รวมถึง การเรียนรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จึงได้บริจาคเครื่องปั้นดินเผาประเภทสลักลายวิจิตร ประเภทเครื่องบรรณาการ และประเภทที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้ปกติและในยุคสงครามโลก ศิลปวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีมอญ ซึ่งเคยจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์บ้านกวานอาม่าน สไลด์ และหนังสือหายาก ส่งต่อเป็นมรดกของชาติผ่านการดำเนินการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้พัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อชุมชนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายพิศาล บุญผูก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านสารสนเทศศาสตร์ และเป็นปราชญ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศท้องถิ่น มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย อีกทั้งเป็นตัวอย่างของการสร้างคุณประโยชน์แก่ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาเอกสารสนเทศศาสตร์

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น