๑๔
พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์” พระราชสมภพในเวลาย่ำรุ่งของวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี (หม่อมเจ้าอาภาพรรณี คัคณางค์) โดยพระนามที่ได้รับ คือ “รำไพพรรณี” (บางครั้งสะกดว่า “รำไภพรรณี”) บ่งบอกอยู่ในทีถึงกาลเวลารุ่งอรุณที่ประสูติ และมีพระนามลำลองซึ่งเรียกขานกันในหมู่เจ้านายและผู้ใกล้ชิดว่า “ท่านหญิงนา” โดยเล่าเปรียบเสมือนคำพยากรณ์กลาย ๆ ว่า เมื่อทรงเจริญพระชันษาจักประทับอยู่ใกล้ชิดกับชาวไร่ชาวนา

“หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี” ทรงเป็นพระธิดาองค์แรกในพระมารดา พระองค์มีพระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมพระมารดาจำนวน 5 พระองค์ และร่วมพระบิดารวม 46 พระองค์ โดยแรกเริ่มเดิมทีท่านหญิงนาประทับอนู่ ณ สถานที่ประสูติ คือ วังปทุมวัน วังส่วนพระองค์ของพระบิดา (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเขตปทุมวัน ในปัจจุบัน) โดยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระบิดาของพระองค์นั้นเป็นเชื้อพระวงศ์ต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์”

ร่มพระบารมี “สมเด็จป้า”

เมื่อพระชันษาได้ 2 ปี  พระบิดาทรงนำไปถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็น “สมเด็จป้า” ซึ่งขณะนั้นเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทรงกวดขันพระนัดดาทั้งการอ่าน พูด และเขียน ทรงอบรมให้วิชาความรู้ต่าง ๆ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งราชสำนัก และทรงส่งเสริมให้ได้ทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่แก่พระนัดดาทุกพระองค์

ต่อมาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีตามเสด็จฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งเมื่อมีพระชันษา 6 ปี ใน พ.ศ. 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงโปรดให้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนราชินี เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีตามเสด็จฯ ไปประทับ ณ วังพญาไท ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากโรงเรียนราชินี จึงโปรดให้พระอาจารย์มาถวายพระอักษรที่พระตำหนักในวังพญาไทแทน เมื่อถึงเวลาสอบไล่จึงจะเสด็จไปสอบที่โรงเรียนราชินี นอกจากการศึกษาในทางวิชาการแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเรียนรู้งานหัตถศิลป์ที่สืบทอดกันมาในราชสำนัก ทรงอบรมบ่มเพาะพระอุปนิสัยอย่างเข้มงวดด้วย และเมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีพระชันษา 11 ปี ก็ได้รับพระกรุณามหาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกอบพิธีเกษากันต์ตามโบราณราชประเพณี ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2457

พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว ทรงเข้ารับราชการทหารประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 ได้เสด็จมาเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีอยู่เสมอ จึงทรงได้พบปะพระนัดดาของสมเด็จแม่หลายพระองค์รวมทั้งหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี

ทรงต้องอัธยาศัยในหม่อมเจ้ารำไพพรรณีจนบังเกิดมีพระราชหฤทัยรักใครผูกพัน จึงมีพระราชหัตถเลขากราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เมื่ออภิเษกสมรสแล้วทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่ “วังศุโขทัย” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่บนที่พระราชทานริมคลองสามเสน

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมาราชานั้นต้องเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเป็น “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นเหตุให้ทรงเปลี่ยนพระอิสริยยศพระชายาจาก “หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา” เป็นพระอัครมเหสี “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” ผ่านพระราชพิธีอันสำคัญ คือ การสถาปนา “สมเด็จพระบรมราชินี” ครั้งแรกในสยาม

และเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระภรรยาเจ้าเพียงพระองค์เดียว และทรงยกย่องสมเด็จพระบรมราชินีไว้ในพระราชสถานะ “เอกอัครมเหสี” และทรงร่วมทุกข์สุขเคียงพระองค์พระบรมราชสวามีเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินียังประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ประเทศอังกฤษต่อไป และเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยตามคำกราบเชิญของคณะรัฐบาลที่ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ ทั้งนี้พระองค์ทรงเสด็จกลับฯ พร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาประเทศไทยพร้อมกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับที่วังสระปทุม และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง ทรงแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรด้วยในหลายโอกาส รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินร่วมงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ นอกจากนี้ได้เสด็จฯ ไปประทับ ณ สวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่พัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตร เรียกได้ว่าทรงเป็นนักพัฒนาการเกษตร นอกจากนี้ยังทรงเป็นนักพัฒนางานหัตถกรรม ทรงศึกษาเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ การออกแบบที่ทันสมัย จนทำให้เสื่อจันทบูรณ์ เป็นหัตกรรมที่รู้จักกันแพร่หลายในนามผลิตภัณฑ์ “เสื่อสมเด็จ” ทรงเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายตรงกับความต้องการใช้งาน

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีมีพระชนมายุสูงขึ้น มิได้เสด็จฯ ไปประทับที่สวนบ้านแก้วแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขายในราคาถูกแก่กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยครูรำไพพรรณี ในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งยังคงอนุรักษ์สวนบ้านแก้วเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวเสมอ พระองค์พระราชทานเงินสร้างอาคารโรงพยาบาลทรงอุปถัมภ์เพื่อยกระดับและพัฒนาโรงพยาบาลจันทบุรีให้สามารถรับใช้ประชาชนจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี”

เสด็จสู่สวรรคาลัย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สวรรคตด้วยพระหทัยวาย ณ วังศุโขทัย ในวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ในห้องพระบรรทม ณ ตำหนักใหญ่วังศุโขทัย สถานที่ซึ่งทรงเริ่มชีวิตคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชนมพรรษา 75 ปี 5 เดือน 2 วัน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระที่นั่งดุสิตปราสาทพระบรมมหาราชวัง ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2529

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (2550). รัตนราชนารีคู่บารมีพระปกเกล้า = The jewel on King Prajadhipok’s crown. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล. (2560). กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสยาม. สถาบันพระปกเกล้า.
ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ กองกลาง สำนักราชเลขาธิการ. (2531). พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ กองกลาง สำนักราชเลขาธิการ.

ผู้เรียบเรียง

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน