นวัตกรรมวิจิตร เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการโดยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ได้คิดสร้างสิ่งใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชีวิต และสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงตนเองในฐานะนักนวัตกรรมไว้ว่า

ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งในจำพวกนั้นที่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซาก ไม่ชอบทำอะไรที่อยู่ในเป้าหมายเดิมตลอดเวลา แต่ไม่ถึงขั้นสุดโต่ง เมื่อเราคิดถึงว่าเราพบปัญหา ถ้าไม่ใช้วิธีการไหม่ ๆ แก้ จะแก้ไม่ได้เลย ทำให้ต้องคิดต่อ และวิธีใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหา ที่จะช่วยให้เราทำอะไรได้ ควรจะเป็นอะไร…
เราต้องแยกระหว่าง Inventor กับ innovator กล่าวคือ inventor คือสร้างอะไรใหม่ ๆ เป็นคนแรก แต่ innovator อาจเอาของที่มีอยู่แล้วเกิดขึ้นแล้วมาปรุงแต่งให้ใช้การได้ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งในบริบทใดบริบทหนึ่ง ผมจึงมองตัวผมเองว่าเป็น innovator มากกว่า inventor…

หนังสือ “คารวะอาลัย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน”

หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน บุคคลสำคัญของวงการศึกษาไทย ที่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ตัวตนและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่มีมาตลอดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตให้เป็นที่ประจักษ์ ประกอบด้วย “ความทรงจำวิจิตร” เรียบเรียงโดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่บอกเล่าถึงชีวประวัติตั้งแต่วัยเยาว์ สะท้อนความเป็นตัวตน ความคิดในการทำงานในทุกมิติ “9 นวัตกรรมวิจิตร” ผลงานสำคัญที่มอบให้กับวงการอุดมศึกษาไทย โดยนวัตกรรมทั้ง 9 เรื่อง มีผลต่อการพัฒนานิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และมหาวิทยาลัยของไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน “วิจิตรในความทรงจำ” เนื้อหาแสดงถึงความประทับใจที่มีต่อศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน โดยได้รับความกรุณาจากบุคคลสำคัญ สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ร่วมเขียนข้อความไว้อาลัย

8 แนวคิดของนวัตกรรมวิจิตร

 

“นิสิตนักศึกษาเรามีเวลาว่างตอนปิดเทอมมาก แต่ไม่ค่อยเอามาใช้ในเรื่องการบำเพ็ญประโยชน์ให้เป็นกิจจะลักษณะ เมื่อมาเห็นอย่างนี้ ในที่สุดก็ชอบความคิดนี้ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประโยชน์ เมื่อจบอักษรศาสตร์และมาต่อครุศาสตร์ ผมก็เป็นอุปนายกสโมสรนิสิต ก็เอาเรื่องนี้เข้าไปเป็นกิจกรรมหนึ่ง เป็นชมรมหนึ่งของสโมสรนิสิตจุฬาฯ จีงเป็นแห่งแรกที่ได้เริ่มตั้งค่ายอาสาสมัคร”

 

“ผมเองเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ที่สหรัฐอเมริกา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง ก็ไปพบว่าที่นั่นได้มีการเรียนการสอนที่ชื่อว่าการวิจัยสถาบัน มีหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้น เพื่อทำการวิจัยสถาบันที่พัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิจัยสถาบันแล้วประยุกต์ใช้ประโยชน์ค่อนข้างครบวงจร”

 

“จุดนั้นเป็นการตัดสินใจที่สำคัญของรัฐบาล ตอนนั้นที่ตัดสินใจว่าต้องขยายโดยเปลี่ยนรูปแบบการจัด คือเอาเป็นแบบที่ไม่มีชั้นเรียนหรือที่มารู้จักกันต่อมาว่าเป็นการศึกษาทางไกล เพราะตอนแรกไม่ได้เรียกการศึกษาทางไกล แต่เรียกว่าเป็น มหาวิทยาลัยที่รับโดยไม่มีการสอบคัดเลือก ที่สอนผ่านไปรษณีย์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือวิธีอื่นที่นักศึกษาไม่ต้องมาเรียนตามชั้นเรียนปกติ โดยที่มุ่งให้นักศึกษาเรียนด้วยตนเองให้มากที่สุด”

 

“ราชทัณฑ์โดยความหมายก็คือการปรับประพฤติและการศึกษานี่แหละน่าจะเป็นวิธีการปรับประพฤติผู้ที่ต้องโทษ
ทั้งหลายได้ดีที่สุด”

“ทุกคนมีศักยภาพ จะดูคนหรือให้โอกาสคนก็ควรดูที่ศักยภาพของเขา ไม่ใช่ดูแค่คะแนนสอบ ตัวผมเองก็เข้าสวนกุหลาบได้ชนิดแทบเอาตัวไม่รอด แต่พอได้รับโอกาส ได้ครูดี บวกกับความขยันของเราอีกหน่อย เราก็สู้เขาได้ไม่น้อยหน้าใคร”
“ผมขอ Honor ความคิดของนักคิดรุ่นเดิม เพราะชื่อมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลนี้ก็เป็นชื่อที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2507-2513 ที่สวางคนิวาส และแนวคิดที่ตามมาในการจัดระบบวางระเบียบของ มทส. ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนมรดกทางความคิดของกระบวนการ “สวางคนิวาส” นั่นเองที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารเพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการตามภารกิจของมหาวิทยาลัย และเพื่อบรรลุหลักการนี้จะต้องแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างบริหารแบบประเพณีนิยมในมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นระบบราชการที่ให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ดังนั้นระบบบริหารของมหาวิทยาลัยจึงควรกำหนดรูปแบบและแนวทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอันได้แก่ระบบบริหารที่เป็นอิสระจากระบบราชการ หรือการดำเนินการในธุรกิจที่ไม่มุ่งหากำไร”
“เราไปสำรวจศึกษาดูก่อนว่าประเทศต่างๆ เขามีวิธีการอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจหรือไม่อย่างไรในการที่จะช่วยให้เด็กจบแล้วมีโอกาสได้งานและสามารถเข้าสู่การทำงานได้ทันที่ เราเริ่มจากการสำรวจตัวอย่างในต่างประเทศ แล้วเราก็ยังไปถามความเห็นผู้ประกอบการในเมืองไทยด้วยว่าที่เขาเป็นผู้ใช้บัณฑิตมานั้น เขาเห็นบัณฑิตไทยมีจุดอ่อนจุดแข็งยังไงบ้าง ความเห็นร่วมและความเห็นหลักของเขาก็คือเขาบอกว่าบัณฑิตที่เขาใช้อยู่ยังปฏิบัติไม่เป็น ก็คือมีแต่ความรู้เชิงทฤษฎีแต่เอามาใช้ทำงานเลยไม่ได้ อีกข้อก็คือเขาติงว่าบัณฑิตไม่ค่อยสู้งาน อีกประการก็คือภาษาอังกฤษมักจะอ่อน แล้วเขาก็ตั้งโจทย์ให้เราว่าทำยังไงมหาวิทยาลัยถึงจะผลิตบัณฑิตที่จบแล้วสามารถทำงานได้ทันที ไม่ใช่รับมาแล้วต้องไปฝึกอบรมกันต่ออีกพักหนึ่งถึงจะทำงานได้ ทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ผลิตคนที่สามารถทำงานได้ทันที”
“ต้องเอาความต้องการของสังคมมาเป็นตัวตั้งด้วย ต้องยึดตัวผู้เรียนและตัวที่เกิดกับผู้เรียนเป้นสำคัญ เดี๋ยวนี้เขาวัดที่ Learning Outcomes เพระฉะนั้นคุณจะสอนดีอย่างไร คุณจะออกแบบดีอย่างไรแต่ถ้ามันไม่เกิด Learning Outcomes ในตัวผู้เรียน ต้องทบทวนแล้วครับ…โลกทุกวันนี้ที่สอนกันอยู่นะมันไม่ใช่ Coach Teaching ในความหมายเดิม มันไม่ใช่ Active Learning ในความหมายเดิม แต่ในความหมายใหม่ เป็นBlended Teaching and Learning ก็คือคนเรียนรู้ผสมผสานจากแหล่งเรียนรู้หลายๆ ด้านและจากผู้ที่มีส่วนสัมผัสสัมพันธ์ด้วยหลายๆ คน ไม่ใช่ 1 ต่อ 1 ระหว่างครูกับศิษย์”

บรรณานุกรมผลงาน

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์บรรณานุกรมผลงานของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในรูปแบบ Flip Book

วิจิตรกิตติการ

ประวัติ ผลงาน และบรรณานุกรมผลงาน
(พ.ศ. 2554-2561)

สารสนเทศดิจิทัล

สารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

เว็บไซต์สารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นการรวบรวมประวัติผลงานและกิตติการของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่เป็นแบบอย่างและควรได้รับการยกย่องของวงการศึกษาไทย ผลงานหลากหลายรูปแบบที่ท่านได้สรรค์สร้างไว้จึงได้มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบในรูปแบบสารสนเทศดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ใหนั้กวิชาการและผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาอย่างแพร่หลายต่อไป

คลังสารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

เว็บไซต์รวบรวมประวัติ ผลงานและกิตติการทางด้านวิชาการที่มีคุณค่า สาระ และเป็นโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทย ของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน หลากหลายรูปแบบ ที่ได้รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบในรูปแบบสารสนเทศดิจิทัลฉบับเต็มรูป อาทิ หนังสือและบทในหนังสือ บทความ บทบรรยายและปาฐกถา บทสัมภาษณ์ และเอกสารนำเสนอ

นิทรรศการออนไลน์ “นวัตกรรมวิจิตร นวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญของประเทศไทย”

เรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิดและการดำเนินการที่สำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชีวิต และสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่รวมเรียกว่า นวัตกรรมวิจิตร ประกอบด้วย 8 นวัตกรรม ได้แก่ นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร นวัตกรรมการวิจัยสถาบัน นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ นวัตกรรมเสริมสมอง นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นวัตกรรมสหกิจศึกษา และนวัตกรรมกรอบมาตรฐานวิชาชีพการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา

เว็บไซต์ “สารสนเทศดิจิทัล ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน”

เว็บไซต์สารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นการรวบรวมประวัติผลงานและกิตติการของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่เป็นแบบอย่างและควรได้รับการยกย่องของวงการศึกษาไทย ผลงานหลากหลายรูปแบบที่ท่านได้สรรค์สร้างไว้จึงได้มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบในรูปแบบสารสนเทศดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ให้นักวิชาการและผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้า และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษาอย่างแพร่หลายต่อไป

ศิษย์กตัญญุตาบูชาครู

สถาบัน หน่วยงานต่างๆ และมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน โดยคณะบุคลากรของหน่วยงานที่เคยร่วมงาน หรือเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ เอกสาร เว็บไซต์ และอื่น ๆ ในโอกาสจัดงานกิตติการ เพื่อเป็นเกียรติและแสดงความยินดีและเพื่อแสดงมุทิตาจิตแด่ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เนื่องในวาระและโอกาสต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2529-2561 รวมทั้งศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้จัดทำหนังสือและเว็บไซต์ไว้เองด้วย มีผลงานหนังสือทั้งสิ้น 21 เล่ม เว็บไซต์ 3 เว็บไซต์ วีดิทัศน์ 1 เรื่อง และห้องแสดงอัตชีวประวัติและผลงาน 1 ห้อง

ห้องวิจิตรกิตติการ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้จัดตั้ง “ห้องวิจิตรกิตติการ” ภายในหอประวัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาคารบรรณสาร จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอัตชีวประวัติ ครุยวิทยฐานะ รางวัลและสิ่งของต่างๆ ของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เป็นผู้นำทางความคิดและงานด้านการศึกษาของชาติอย่างกว้างขวาง จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อีกทั้งเป็นนักการศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการที่ดีเด่นในด้านการบริหาร การศึกษา การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การเขียนตำรา บทความและงานวิจัย เป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นผู้สร้างนวัตกรรมการศึกษาไทย รวมทั้งในสมาคมวิชาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ห้องวิจิตรกิตติการ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าอ้างอิงเกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของแนวความคิดต่างๆ ของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย นักประวัติศาสตร์ นักศึกษา และสาธารณชนทั่วไป มีพิธีเปิดห้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

วีดิทัศน์

หนังสือ

เว็บไซต์